หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

หมอสันต์...

 





Cr.https://drsant.com/2018/06/blog-post_27-10.html

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร…
ณ Wellness We Care มวกเหล็ก สระบุรี

     1. แม้ว่าเรื่องราวความสำเร็จและผลงานของคุณหมอจะเป็นที่รู้ จักอย่างกว้างขวาง แต่อยากให้คุณหมอแบ่งปันประสบการณ์ในชีวิตการทำงานที่น่าภาคภูมิใจเพื่อเป็นเกียรติแก่นิตยสาร …

นพ.สันต์

   ผมเป็นคนแก่ที่ขี้ลืมมากเลย และไม่จำอะไรในอดีต สมองของผมแค่จะโฟกัสเดี๋ยวนี้ให้ต่อเนื่องก็ยังจะเอาตัวไม่รอดแล้ว อีกอย่างหนึ่งผมไม่ใช่ชายแก่ประเภทที่จะมีความสุขกับการนั่งรำพึงถึงอดีตด้วยความภาคภูมิใจหรือเสียใจ ไม่ทั้งนั้น
     แต่เมื่อคุณถามมาก็จะทบทวนความจำสั้นๆนะ ว่าผมเรียนแพทย์ก็ไปทำงานใช้ทุนในชนบทที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช  ช่วงนั้นสิ่งที่จำได้ก็คือการรวบรวมความช่วยเหลือจากชุมชนสร้างโรงพยาบาลปากพนังขึ้นมาเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก
     ต่อมาเมื่อใช้ทุนครบก็เข้ามาฝึกอบรมเป็นหมอผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอก จบแล้วไปเป็นศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี ทำหน้าที่หมอผ่าตัดซึ่งในสมัยนั้นไม่ว่าใครจะจบศัลยกรรมสาขาไหนมาก็ต้องผ่าตัดตั้งแต่หัวถึงเท้าเหมือนกันหมด ช่วงน้้นผมบ้าผ่าตัด ผ่ามันทั้งวันทั้งคืน มีคู่หูเป็นหมอผ่าตัดบ้าพอๆกันอีกคนหนึ่ง เสร็จผ่าตัดมาค่ำมืดก็เจอกันแค่สองคนเพราะคนอื่นเขากลับบ้านกันหมดแล้ว แต่ขนาดมีแค่สองคนนะ มีอยู่วันหนึ่งยังใส่เสื้อสลับกันเลย ผมมารู้ว่านี่ไม่ใช่เสื้อของผมเพราะ..เอ๊ะ ในกระเป๋าทำไมมีบุหรี่สายฝนอยู่ด้วย
     จากรพ.ศูนย์สระบุรีก็ไปฝึกอบรมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจที่ต่างประเทศ จบแล้วกลับมาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่รพ.ราชวิถีนานยี่สิบปี ช่วงนั้นงานหลักเป็นงานวิชาชีพและวิชาการ ได้เขียนตำราวิชาการไว้หลายเล่ม งานเสริมแบบช่วยสังคมก็มีบ้าง เช่น ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็กเพื่อหาเงินมาผ่าตัดเด็กยากไร้ที่หัวใจพิการแต่กำเนิด ได้เป็นกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจอยู่หลายปีและได้ร่วมจัดทำมาตรฐานการช่วยชีวิตของประเทศไทยขึ้น และได้ก่อตั้งและเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตเพื่อสอนแพทย์พยาบาลและคนทั่วไป ซึ่งมูลนิธินี้ก็ยังทำงานขันแข็งอยู่จนถึงวันนี้โดยมีแพทย์จิตอาสารุ่นหลังรับช่วงไปทำต่อ
     หลังจากนั้นก็ออกจากราชการมาก่อตั้งศูนย์หัวใจขึ้นในภาคเอกชนให้เครือรพ.พญาไท โดยร่วมมือกับมหาลัยฮาร์วาร์ด ที่อเมริกา แล้วก็มาทำศูนย์หัวใจเพื่อผ่าตัดผู้ป่วยสามสิบบาทและประกันสังคมที่รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น ทำไปทำมาก็กลายเป็นผู้อำนวยการของรพ.ทั้งสองแห่งไปด้วย
     หลังจากนั้น อายุได้ 55 ปีแล้ว ก็เลิกผ่าตัดหัวใจเลิกทำงานบริหารรพ.เด็ดขาด หันไปเรียนใหม่เพื่อเป็นหมอประจำครอบครัว จบแล้วมาทำงานสอนผู้ป่วยให้รู้จักดูแลตัวเองอย่างเดียวจนทุกวันนี้ โดยตั้งศูนย์เวลเนสวีแคร์นี้ขึ้นเพื่อให้คนมากินมานอนมาเรียนในรูปแบบของการเข้าแค้มป์ นอกจากนี้ก็ยังให้ความรู้คนทั่วไปผ่านการทำวิดิโอออกฉายทางยูทูป การตอบคำถามทางบล็อกส่วนตัว และการเขียนบทความทางวารสาร จนทุกวันนี้

     2. อยากให้ แบ่งปันถึงมุมมองและแรงบันดาลใจ เกี่ยวกับสิ่งดีๆที่คุณหมอรณรงค์เพื่อสังคม ในด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

นพ.สันต์

     แรงบันดาลใจก็มาจากสองด้านนะ

     ด้านที่หนึ่ง ก็คือประสบการณ์จากการรักษาคนป่วยโรคหัวใจขาดเลือดมานานถึงยี่สิบปี มันเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เหนื่อยยากลำบากทั้งหมอและคนไข้ แต่ท้ายที่สุดก็คือโรคมันมีแต่จะเดินหน้าไปไม่มีหาย ทำผ่าตัดครั้งที่หนึ่ง สิบปีต่อมาก็มาทำครั้งที่สอง อีกสิบปีต่อมาถ้าไม่ตายเสียก่อนก็มาทำครั้งที่สาม

     ด้านที่สอง ก็คือเมื่อตัวเองป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้ดูแลตัวเองจนได้ผลดี ก็อยากสอนให้คนไข้รู้วิธีดูแลตัวเองบ้าง

     มุมมอง ที่ผมอยากจะแชร์ก็คือ โลกทุกวันนี้กำลังมุ่งหน้าไปผิดทางในเรื่องการดูแลสุขภาพ คือไปมุ่งกันที่การใช้ยา การทำบอลลูน การผ่าตัด การใช้เทคโนโลยีต่างๆรักษา ทั้งๆที่หลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ชี้ชัดว่าทั้งหมดนั้นไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์ของโรคเรื้อรังลดลง ไม่ได้ทำให้โรคหาย และลดการตายจากโรคในระยาวลงได้น้อยมาก แต่สังคมก็ใช้เงินใช้ทองกับการนี้ไปมากขึ้นทุกปี เพราะต้นทุนการรักษาในแนวทางนี้มันมีแต่จะเพิ่มขึ้นแบบไม่มีเพดาน ท้ายที่สุดสังคมก็จะเจ๊ง คือจ่ายค่ารักษาให้ประชาชนไม่ไหว ขณะที่เส้นทางเดินที่มีประสิทธิผลดีกว่า ใช้เงินน้อยกว่าคือการช่วยให้คนทั่วไปทั้งที่ยังไม่ป่วยและป่วยแล้วให้รู้จักดูแลตัวเองด้วยการกินการอยู่ให้เป็น เป็นเส้นทางที่องค์การอนามัยโลกเรียกว่าการบริหารสุขภาพตนเอง Self Management อนาคตเหลือทางเดินอยู่ทางเดียว คือการบริหารสุขภาพตนเองนี่แหละ

     3. ปัญหาและอุปสรรคมีอะไรบ้าง ในการทำโครงการที่ต้องสื่อสารความเข้าใจและพัฒนาแนวคิด ในการใช้ชีวิตของผู้คน

นพ.สันต์

     ในการสอนให้ผู้คนดูแลสุขภาพของตัวเอง แพทย์เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น ปัจจัยกำหนดว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเสียเกือบ 100% คือถ้าผู้ป่วยเอาถ่านมันก็สำเร็จ ถ้าผู้ป่วยไม่เอาถ่านมันก็ไม่สำเร็จ แล้วความเอาถ่านของคนเรานี้มันไม่ใช่ว่ามีเท่ากันเสียที่ไหนละ มันเป็นกรรมเก่าที่ติดตัวแต่ละคนมา มันก็เหมือนกับที่พระสอนให้คนบรรลุธรรมด้วยการปล่อยวางความคิดนั่นแหละ ตัวกำหนดความสำเร็จคือตัวผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่พระ ตัวผมเองก็ทำได้ในขอบเขตที่ “ผู้บอกทาง” คนหนึ่งจะทำได้ ซึ่งผมก็ได้นำหลักวิชาการให้ความรู้สุขภาพเท่าที่วงการแพทย์มีมาใช้ทั้งหมดทุกเม็ด ทุกดอก ทุกท่า ไม่ว่าจะเป็นการสอน การให้ข้อมูลความรู้ การตอบคำถาม การทำตัวให้เห็นเป็นตัวอย่าง การกระตุ้นให้ลงมือดูแลตัวเอง การสร้างกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นมากระตุ้นกันเอง การพยายามสร้างชุมชนคนดูแลสุขภาพตัวเอง เป็นต้น

4. ไลฟ์สไตล์การทำงานและชีวิตส่วนตัวของคุณหมอในปัจจุบัน

นพ.สันต์

     ผมอายุ 66 ปีแล้วนะ ชีวิตแต่ละวันก็ตื่นมาเช้าบ้างสายบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นจะต้องทำอะไร ประมาณสี่วันต่อสัปดาห์ชีวิตจะหมดไปกับการสอนการฝึกอบรมที่เวลเนสวีแคร์ในรูปของแค้มป์สุขภาพ เช่นแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY) สำหรับคนทั่วไปบ้าง แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) สำหรับคนป่วยโรคเรื้อรังบ้าง แค้มป์ปลีกวิเวกทางจิตวิญญาณ (SR) เพื่อจัดการความเครียดบ้าง ชั้นเรียนทำอาหารโดยใช้พืชเป็นหลัก (PBWF Cooking) สำหรับแม่บ้านบ้าง เป็นต้น บางครั้งก็มีแถมต้องไปสอนไปบรรยายนอกสถานที่ เวลาอีกหนึ่งวันต่อสัปดาห์ก็เป็นการออกคลินิกเพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาล คือผมชอบศึกษาความรู้แพทย์แบบต่อเนื่อง ก็จึงต้องดูคนไข้อยู่ เพื่อไม่ให้ลืมความรู้เก่าและเพื่อเสาะหาปัญหาใหม่ๆที่เกิดกับคนไข้ ทั้งหมดนี้ก็หมดไปสัปดาห์ละห้าวัน เหลืออีกสองวันก็เป็นการพักผ่อนหรือทำงานอดิเรก เช่นตั้งใจออกกำลังกายให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยชดเชยกับวันทำงานที่ยุ่งๆไม่ได้ออกบ้าง ทำสวนปลูกผักบ้าง ทำงานก่อสร้างบ้าง หรือทำงานกรรมกรในบ้านตามแต่แม่บ้านเขาจะเรียกใช้บ้าง เป็นต้น

     ตื่นเช้าในวันปกติผมก็จะนั่งสมาธิก่อน แล้วก็ออกกำลังกาย ในห้องนอน และในห้องน้ำนั่นแหละ วันว่างจากงานก็เขียนบทความให้ความรู้ ตอบคำถามทางบล็อก หรือถ่ายวิดิโอไว้ประกอบการสอน สองสามเดือนครั้งก็พาลูกเมียหรือบางทีก็เพื่อนๆด้วยไปขับรถเที่ยวเล่นหรือไปเดินไพรตามต่างจังหวัดกัน ประมาณปีละครั้งก็ไปขับรถเที่ยวหรือเดินป่าที่เมืองนอก แต่ไม่ไปกับทัวร์นะ ต้องขับรถเองเท่านั้น และไม่ซื้อของด้วย ไปเที่ยวชนบทเดินป่าเดินเขาอย่างเดียว ไม่มีซื้อการของ เพราะตอนนี้สมบัติบ้าแค่ที่มีในบ้านก็ไม่มีที่จะเก็บแล้ว

     5. ขอคำแนะนำเบื้องต้น สำหรับคนที่อยากปรับชีวิตให้มีความสุขแบบคุณหมอ

นพ.สันต์

    ผมมีคำแนะนำสามอย่างเท่านั้น

    อย่างแรก ต้องจัดเวลาเพื่อตัวเองให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงก่อน ถ้าจัดเวลาให้ตัวเองไม่ได้ก็จบข่าว ไม่ต้องไปต่อแล้ว หนึ่งชั่วโมงนี้ต้องเป็นเวลาของตัวเองจริงๆ ปิดโทรศัพท์มือถือ ปิดคอม ปิดโทรทัศน์ ไม่ยุ่งกับใคร อยู่เงียบๆคนเดียว อย่างวุ่นวานที่สุดก็ออกกำลังกาย หรือฝึกจิต จะด้วยการนั่งสมาธิ รำมวยจีน หรือโยคะ ก็แล้วแต่ ถ้าพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจัดเวลาให้กับตัวเอง ผมก็ไม่มีคำแนะนำอะไรต่อแล้ว ตัวใครตัวมันก็แล้วกันนะครับ

     อย่างที่สอง ให้คุณปล่อยวางความคิดลง เลิกคิดถึงอดีต เลิกคิดถึงอนาคต ยกเว้นเฉพาะเวลาทำงานก็คิดแก้ปัญหาการทำงานไปตามหน้าที่ หมดเวลาทำงานก็เลิกคิด สนใจอยู่แต่กับแต่ละโมเมนต์ที่อยู่ตรงหน้า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่าไปจัดวาระล่วงหน้าให้กับชีวิตมากนัก ปล่อยชีวิตไปทีละแว้บ ทีละแว้บ ยอมรับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปวิ่งหา หรือไม่ต้องวิ่งหนีอะไร อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ทีละแว้บ ทีละแว้บ อย่าไปคิดว่าตัวเราสำคัญและอย่าไปหลงผิดว่าโลกนี้จะถล่มถ้าเราไม่แบกมันไว้ หัดไว้ใจจักรวาลเสียบ้าง ใครก็ตามที่สร้างโลกนี้มา เขาจะเป็นผู้ดูแลโลกนี้เอง คุณไม่ต้องไปเดือดร้อนเป็นภาระแบกโลกไว้หรอก เหมือนแม่ค้าหิ้วกระบุงตะกร้าขึ้นรถไฟ พอรถไฟออกแล้ว เธอแบกกระบุงไว้บนบ่าหรือเปล่าละ เปล่า ใช่ไหม เธอวางมันลงบนพื้นรถไฟ รถไฟเป็นผู้รับน้ำหนักกระบุงตะกร้าเอง เธอไม่ต้องแบกมันไว้บนบ่าเธอหรอก กระบุงเหล่านั้นก็จะไปถึงที่หมายได้เช่นกัน ชีวิตเราก็ฉันนั้น ความเป็นบุคคลของเรานี้มันเป็นเพียงเรื่องสมมุติที่จะยุติหมดเกลี้ยงคล้อยหลังจากเราตายไปได้ไม่กี่วัน มันไม่ใช่ของจีรัง จะไปแบกมันไว้ทำไม

     อย่างที่สาม ก็คือ คุณทำงานแบบจดจ่อกับงานที่ตรงหน้า นั่นเป็นสิ่งที่ดี การโฟกัสที่กระบวนการทำงานเป็นสิ่งที่ดี แต่การโฟกัสที่ผลลัพธ์เป็นสิ่งที่เลวร้าย เพราะการโฟกัสที่ผลลัพธ์มันมีความเป็นบุคคลของตัวเราเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าคุณจะทำงานต้องตั้งผลลัพธ์ไว้ก่อนว่าเอาแค่ศูนย์ focus on process, zero result คุณตั้งใจทำ ผลออกมาอย่างไรไม่สน เพราะคุณจะไม่ได้เสวยหรือได้ดิบได้ดีกับผลอันนั้น คนอื่นจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากผลงานนั้น ถ้าคุณทำงานด้วยโลกทัศน์อย่างนี้ได้คุณก็จะเป็นคนที่มีความสุขกับการทำงาน

6. ขอคำแนะนำในการจัดที่พักอาศัยให้มีผลต่อสุขภาพที่ดีของทุกเพศ ทุกวัย

นพ.สันต์

     มันก็มีอยู่ห้าประเด็นนะ

     ประเด็นที่ 1. ที่นอน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ต้องกว้างก็ได้ แต่ต้องสะอาด เงียบ เย็น และมืดเมื่อเราต้องการให้มืด แค่นี้ก็พอแล้ว สำหรับครอบครัวที่ต้องทำอาหารเองอาจต้องมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับทำอาหารอีกนิดหน่อย แต่การทำอาหารสมัยนี้ก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ใหญ่โตอะไร นอกจากเหนือนี้แล้วมันเป็นเรื่องของพื้นที่ร่วม ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว

     ประเด็นที่ 2. อากาศ พื้นที่ร่วมที่ให้ความสุขใจเรามากที่สุดก็คือท้องฟ้า ที่พักอาศัยที่ไหนตื่นมาแล้วมองไม่เห็นท้องฟ้า หรือไม่เห็นแดด หรือสูดอากาศได้ไม่เต็มปอด นั่นส่อว่าผู้อาศัยกำลังจะมีปัญหาสุขภาพแน่นอนแล้ว

     ประเด็นที่ 3. น้ำ ที่พักอาศัยที่เปิดก๊อกปุ๊บได้มีน้ำสะอาดไหลออกมาปั๊บ นั่นเจ๋งสุด แต่ถ้าไม่มีก๊อกให้เปิดก็ขอให้เป็นที่พักอาศัยที่หาน้ำสะอาดไว้ดื่มไว้ใช้ได้โดยไม่ลำบากก็ถือว่าหรูแล้วเช่นกัน

     ประเด็นที่ 4. ถัดจากอากาศและน้ำ เรื่องต่อๆไปก็เป็นเรื่องกระจอก แต่ถ้ามีก็ดี ผมหมายถึงพื้นที่ออกกำลังกาย ถ้ามีพื้นที่ร่วมให้ออกกำลังกายได้ก็เจ๋ง มีต้นไม้เขียวๆประกอบฉากด้วยยิ่งเริ่ด แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่นนั้น หากรักการออกกำลังกายจริงจะขวานขวายมีพื้นที่ออกกำลังกายไว้เป็นของตัวเองก็ใช่ว่าจะลำบากเกินไปดอก เพราะพื้นที่แค่หนึ่งตารางว่าก็พอที่จะออกกำลังกายได้ทั้งแบบแอโรบิก ฝึกกล้ามเนื้อ และเสริมการทรงตัวได้อย่างสบายๆแล้ว ที่พูดอย่างนี้เพราะผมเคยทำเองมาแล้วจึงกล้าพูด

     ประเด็นที่ 5. แหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมายความว่าที่พักอาศัยที่ดีต้องใกล้แหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต้องหาของดีๆกินง่าย ไม่ใช่ว่าเดินหาเท่าไหร่ก็มีแต่ร้านขายอาหารขยะที่รู้ๆอยู่ว่ากินเข้าไปก็จะทำให้สุขภาพมีแต่แย่ลง ถ้าเป็นการสร้างชุมชน ชุมชนนั้นต้องมีที่เข้าถึงอาหารสุขภาพได้ง่าย

     กล่าวโดยสรุป ที่พักที่ดีต่อสุขภาพคือที่ที่คุณได้ทั้ง (1) ที่นอนดี (2) อากาศดี (3) น้ำสะอาด (4) มีที่ออกกำลังกาย (5) หาอาหารดีได้ง่าย หากได้ที่อยู่แบบนี้ก็ถือว่าสุดยอด

7. ความสุขในชีวิตวันนี้คืออะไร และเป้าหมายต่อไปคืออะไร

     ความสุขในชีวิตนี้ก็คือการได้อยู่สบายๆกับโมเมนต์นี้โดยไม่มีใครมาบีบคอให้หายใจไม่ออก ผมเอาแค่ทีละโมเมนต์ ทีละแว้บ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว ผมไม่หวลคิดถึงอดีต ไม่สนใจอนาคต เพราะผมยอมรับได้กับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่วันนี้แล้วอย่างไม่มีเงื่อนไข แค่นี้พอแล้ว ผมไม่หนีอะไรที่ผมรังเกียจ เพราะที่นี่เดี๋ยวนี้ผมยอมรับทุกอย่าง ไม่ได้รังเกียจอะไร ผมไม่วิ่งหาอะไรในอนาคต เพราะที่นี่เดี๋ยวนี้ผมไม่ขาดอะไร ผมมีหมดแล้ว

     เป้าหมายต่อไปเหรอ..หิ หิ ผมไม่มีครับ ชีวิตผมมีแต่เดี๋ยวนี้เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องมีต่อไป หรือ what next? ไม่ต้องมี ถ้ามันจะมีต่อไป มันก็จะมาหาผมในรูปของเดี๋ยวนี้ ดังนั้นผมจึงไม่สนใจอะไรก็ตามที่จะมาในโอกาสต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

***********

ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตายจากโรคหัวใจ(คลิก)

********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น