หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2566

สะบายดี..หลวงพระบาง(๕)

 


..จากย่านวัดเชียงทอง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเก่า ต่อมาตอนกลางย่านบ้านเจ็ก พระราชวัง พระธาตุพูสี ตลาดมืด..เราเดินมาเรื่อยๆ วันนี้ถึงย่านทิศใต้ของเมืองเก่าหลวงพระบาง เป็นช่วงสุดท้ายของ"สะบายดี..หลวงพระบาง" ครับ...จะชมวัดอาฮาม วัดวิชุน วัดมโนรม วัดพระบาทใต้...เราเดินเลาะริมน้ำคานจากย่านวัดเชียงทอง ตามถนนเรียบแม่น้ำคานมาทางทิศใต้ จะพบสะพานไม้ไผ่อีกแห่งหนึ่ง ค่าข้ามสะพาน ๑๐,๐๐๐ กีบ (เราไม่ข้ามสะพานไปฝั่งโน้นนะครับ..ขอแค่ชมสะพานไม้ไผ่ ซึ่งว่ากันว่าพอน้ำหลากสะพานนี้ก็จะใช้ไม่ได้..)











   แม่น้ำคานอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุพูสี เราเดินตามถนนเลาะริมน้ำคานเพื่อไปชม วัดอาฮาม วัดวิชุนราช วัดมะโนรม วัดธาตุหลวง และวัดพระบาทใต้ ระยะทางราว ๒.๓ กม.


พระธาตุพูสีมองจากถนนหน้าวัดอาฮาม


วัดอาฮาม
          วัดอาฮามสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ โดยพระเจ้ามันธาตุราช ตรงบริเวณที่เจ้าฟ้างุ้ม (ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๑๕)  ตั้งหอเสื้อเมือง เมื่อครั้งสถาปนากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จุดที่สร้างวัดถือว่าเป็นสะดือเมืองของหลวงพระบาง





ร้านขายสินค้าในบริเวณวัดอาฮาม

....จากวัดอาฮาม เราเข้าชมวัดวิชุน ที่อยู่ติดกันโดยเดินผ่านเข้าซุ่มประตูวัดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประตูโขงที่เก่าแก่ที่สุดในหลวงพระบาง  


      วัดวิชุนราช สร้างใน พ.ศ.๒๐๔๖ โดยพระเจ้าวิชุนราช (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๔๓ - ๒๐๖๓) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบาง และตั้งชื่อวัดตามพระนามของพระองค์ ในสมัยฮ่อบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง วัดวิชุนถูกทำลาย ต่อมาสมัยพระเจ้าสักกะริน(ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๓๘ - ๒๔๔๗) จึงได้บูรณะวัดนี้ขึ้นอีกครั้ง



บัตรเข้าชมภายในสิมวัดวิชุน คนละ ๒๐,๐๐๐ กีบ


สิมงานแบบสกุลช่างไทยลื้อ


พระธาตุหมากโม 
             พระนางพันตีนเซียงมเหสีของพระเจ้าวิชุนราชซึ่งเป็นชาวพวนเมืองเชียงขวางเป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.๒๐๕๗


พระประธานภายในสิม



    ภายในสิมจะเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปไม้และสำริด รวมทั้งศิลปวัตถุต่างๆ ซึ่งมาจากวัดร้างทั้งหลายในหลวงพระบาง เนื่องจากที่นี่เคยเป็นหอพิพิธภัณฑ์มาก่อนที่จะย้ายไปที่พระราชวังเดิมหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง













     จากวัดวิชุนราช เราจะไปชมวัดมะโนรม....






ภาพพุทธรูปที่ถูกทำลายตัดแขนทั้งสองข้าง


      พระประธานในสิมวัดมะโนรม เป็นพระพุทธรูปสำริดซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศลาว สูงประมาณ ๖ เมตร หนักกว่า ๒ ตัน เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย เชื่อกันว่าช่างหล่อมาจากสุโขทัย
      ในสมัยทัพฮ่อเข้าปล้นเผาเมืองหลวงพระบาง วัดมะโนรม ถูกทำลายพระประธานถูกคัดแขนทั้งสองข้างกล่าวกันว่าพวกฮ่อคิดว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ แขนข้างหนึ่งพวกฮ่อเอาไปไม่ทัน เนื่องจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกกองทัพไทยมาถึงหลวงพระบาง ทุกวันนี้แขนข้างหนึ่งยังวางอยู่ข้างองค์พระประธาน
        ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ชาวหลวงพระบางช่วยกันสมทบก่อสร้างสิมขึ้นใหม่ พร้อมทั้งหล่อแขนทั้งสองข้างของพระพุทธรูปจนสมบูรณ์ดังที่เห็นในปัจจุบัน


แขนที่ถูกพวกฮ่อทำลาย




   จากวัดมะโนรม เดินต่อไปจะไปชมวัดพระธาตุหลวง....


       ตามตำนานกล่าวว่าวัดนี้สร้างโดยคณะสงฆ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชจากอินเดียมาเผยแพร่พุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๓ พงศาวดารลาวกล่าวว่าวัดนี้สร้างใน พ.ศ.๒๓๖๑ ในรัชกาลพระเจ้ามันตุธาตุ หน้าสิมมีเจดีย์สร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๓ โดยเจ้าหญิงปทุมมาพระธิดาของเจ้าอนุรุทราช ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๘ ได้บูรณธเจดีย์เพื่อเก็บพระสรีรังคารของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ทุกปีในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบวันสวรรคตของพระองค์เชื้อพระวงศ์เก่าจะร่วมกลับมาทำบุญที่วัดนี้..



เจดีย์เก็บพระสรีรังคารของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์






เจดีย์ด้านทิศใต้ของสิม



      วัดต่อไปคือ วัดพระบาทใต้ เดินต่อไปทางทิศใต้ของวัดธาตุหลวง....เราเดินผ่านอนุสาวรีย์นักรบนิรนาม..


อนุสาวรีย์นักรบนิรนาม


อนุสาวรีย์ท่านไกรสอน พรมวิหาน







    วัดพระบาทใต้ เป็นวัดเก่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๘ สมัยพระเจ้าสามแสนไท ดั้งเดิมเป็นศิลปล้านนา แต่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ สมาคมชาวญวนเป็นเจ้าภาพปฏิสังขรณ์ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นเวียตนาม ชาวบ้านเรียก"วัดญวน" หรือวัดพระบาทใต้ เพื่อให้ต่างกับวัดสีพุดทะบาดซึ่งอยู่เชิงพูสี




     วัดพระบาทใต้"วัดญวน" จะอยู่ติดริมแม่น้ำโขง รอยพระพุทธบาทอยู่ตรงบันไดเดินลงแม่น้ำโขง จะมีอุโมงค์ครอบไว้ หันหน้าออกทางแม่น้ำโขง หากเป็นช่วงหน้าน้ำรอยพระพุทธบาทจะจมอยู่ใต้สายน้ำโขง แต่ผู้มาเที่ยวส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการชมพระอาทิตย์ตกลับฝั่งโขงมากกว่า...


รอยพระพุทธบาท


อุโมงค์ครอบรอยพระพุทธบาท





จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกริมฝั่งโขง


   ...ใกล้ค่ำพอดีขากลับ ขอพึ่งรถสามล้อกลับที่พักครับ.....ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

********
                          






















 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น