หน้าเว็บ
▼
วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
เก็บมาฝากจากไลน์
- ยื้อ...ไม่ยื้อชีวิต อะไรคือตัวตัดสิน -
💉 เคยเจอสถานการณ์นี้ไหม เมื่อเราต้องเห็นคนที่เรารักที่เป็นผู้ป่วยระยะท้ายกำลังเจ็บปวดทรมานอยู่ต่อหน้าต่อตา โดยที่ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี
💉 มันผิดด้วยหรือถ้าญาติหรือลูกๆ จะแสดงความกตัญญูกับญาติผู้ใหญ่ที่ตนรักด้วยการยื้อชีวิตผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็ต้องทนฝืนอยู่ต่อด้วยความรัก หรือเพื่ออยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรต่อไปอย่างทรมาน สถานการณ์อย่างนี้ใครกันแน่ที่จะต้องเจ็บปวดทางใจเมื่อเราต้องรู้สึกผิดในภายหลัง
💉 ถ้าเราตระหนักเรื่องการ “ตายดี” ได้อย่างลึกซึ้ง เราจะไม่มีวันให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
💉 ‘หมอแดง’ นาวาเอกนายแพทย์พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ บอกกับเราว่า “นั่นเท่ากับเป็นการยืดกระบวนการตายให้ยาวนานขึ้น และทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติซึ่งสั้นกว่าและเจ็บปวดทรมานน้อยกว่า”
💉 “เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการให้ผู้ป่วยและญาติได้รู้ข้อเท็จจริง และในท้ายที่สุดต้องให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง หมอรู้ถึงความทุกข์ทรมาน จึงแนะนำให้เราไม่ต้องยื้อความตายไว้นานเกินไป ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นความใจร้าย แต่ถ้าเราเอาความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก และถ้าเขาพูดได้ บอกได้ และตัดสินใจเลือกเองได้ หมอมั่นใจว่าเขาจะบอกว่าวิถีทางตามธรรมชาตินั้นดีที่สุด”
💉 “หลักการคือให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง เมื่อเขารู้ว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นรักษาหายหรือไม่หาย ถ้าดำเนินการรักษาต่อไปแล้วจะทรมานมากหรือน้อยอย่างไร เขาจะประเมินด้วยตัวเองว่าอยากจะให้ลูกหลานทำอย่างไร เขาจะมีการเตรียมตัว มีการทำพินัยกรรม พบหน้าลูกหลานครบทุกคน สั่งเสียเรื่องที่ยังค้างคาใจ และเมื่อเขาทำทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เขาก็จะได้เข้าสู่กระบวนการตายตามธรรมชาติ”
💉 “ตามหลักวิทยาศาสตร์ คนเราถ้ากินอาหารไม่ได้ติดต่อกันหลายวัน ร่างกายจะสูญเสียสมดุลเกลือแร่ พอเสียสมดุลนี้ไป อย่างแรกที่จะกระทบกระเทือนเลยก็คือสมอง สมองจะเริ่มเบลอ และปิดการทำงานไปเรื่อยๆ เขาจะ “ไม่เจ็บปวดทรมาน” มากนักตอนจากไป นอกจากกระบวนการตายจากการเสียสมดุลเกลือแร่ ยังมีกระบวนการตายจากการติดเชื้อซึ่งจะทำให้ความดันเลือดตก เลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะลดลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะซึมลง ง่วง หลับ การรับรู้ทางร่างกายจะค่อยๆ ตัดออกไป ไม่รับรู้ถึงร่างกายตอนที่กำลังแตกดับ ในจุดนั้นเขาจะไม่รับรู้ความเจ็บปวดแล้วซึ่งนับว่าทรมานน้อยกว่า แต่ถ้าเรายื้อไว้ด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อจะทำให้เขากลับมาแข็งแรง เลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น สมองกลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิม เขาก็จะรับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกายต่อไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราจะใช้การแพทย์สมัยใหม่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สมองผู้ป่วยยังคงทำงานอยู่ ความดันเลือดตกก็ให้ยากระตุ้นความดัน ถ้าติดเชื้อก็ให้ยาฆ่าเชื้อ ไตวายก็ฟอกไต กินไม่ได้ก็ให้อาหารทางสาย แบบนี้สมองเขายังทำงานต่อไปและรับรู้ความเจ็บปวดทรมานไปเรื่อยๆ”
💉 หมอแดงย้ำว่า “การที่ผู้ป่วยยอมรับความจริงต่ออาการของตัวเองและยอมยุติการรักษา ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย และไม่ใช่การทำการุณยฆาต แต่การยอมยุติการรักษา คือการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตายตามธรรมชาติ ทัศนคติยอมรับความตายตามธรรมชาติคือการรู้ว่าทุกชีวิตต้องตายและยอมปล่อยให้เป็นไปแบบธรรมชาติ”
💉 หลักการที่ถูกต้องเมื่อรู้ตัวว่าเจ็บป่วยและเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต
1. ยอมรับตามธรรมชาติว่าทุกชีวิตไม่ว่าจะยื้อนานแค่ไหนก็ต้องจากไป
2. แสดงเจตจำนงไว้อย่างชัดเจน หรือทำ Living Will เอาไว้ อย่างเช่น คุณพ่อหมอบอกไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าเขาไม่ต้องการทรมานจากยื้อชีวิต
3. การแพทย์สมัยใหม่ใช้เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด โดยปล่อยอาการของโรคดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติ ไม่ไปเปลี่ยนอะไรมัน
💉 การทำงานของหมอแดงคือต้องให้ความรู้เหล่านี้ออกไปเพื่อช่วยไม่ให้ญาติหรือลูกๆ รู้สึกผิดในภายหลัง
💉 “หมอพยายามปิดช่องโหว่ของความไม่รู้ และตอบคำถามกับทุกคน เพื่อที่เขาจะได้ไม่ยื้อความตายของพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ให้ความรู้เพิ่มเข้าไปเพื่อจะได้ไม่สงสัย ลังเล หรือรู้สึกผิด ถ้าถามว่าถูกต้องไหม หมอตอบเรื่องถูกหรือผิดไม่ได้ แต่มันคือ ‘วิถีทางตามธรรมชาติ’ ที่สุด และจากความรู้ทางการแพทย์ มันคือ ‘วิถีทางที่เจ็บปวดทรมานน้อย’กว่า” หมอแดงกล่าว
คัดลอกบางส่วนมาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
#cheevamitr #ชีวามิตร #ตายดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น