หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

ฯลฯ

       วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ก็คือ การนำเอาโยนิโสมนสิการมาใช้ในทางปฏิบัติ แม้จะมีหลายอย่างหลายวิธี แต่เมื่อว่าโดยหลักการ ก็มี ๒ แบบ คือ โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรง และ โยนิโสมนสิการเพื่อมุ่งสกัดหรือบรรเทาตัณหา
       โยนิโสมนสิการที่มุ่งสกัดหรือกำจัดอวิชชาโดยตรงนั้น ตามปกติเป็นแบบที่ต้องใช้ในการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด
      โยนิโสมนสิการเพื่อมุ่งสกัดหรือบรรเทาตัณหา มักใช้ปฏิบัติขั้นต้นๆ ซึ่งมุ่งเตรียมพื้นฐานหรือพัฒนาตนเองในด้านคุณธรรมให้เป็นผู้พร้อมสำหรับการปฏิบัติขั้นสูงขื้นไปเพราะเป็นเพียงขั้นขัดเกลากิเลส 
       แต่โยนิโสมนสิการหลายวิธีใช้ประโยชน์ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งกำจัดอวิชชา และบรรเทาตัณหาไปพร้อมกัน
       วิธีโยนิโสมนสิการเท่าที่พบในบาลี และพอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆได้ดังนี้
      ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
      ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
      ๓.วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์
      ๔.วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา
      ๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์
      ๖.วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก
      ๗.วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม
      ๘.วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม
      ๙.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน
     ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชวาท

ฯลฯ
    ๑.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย ...อาจเรียกว่า วิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา หรือคิดตามหลักปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นวิธีโยนิโสมนสิการแบบพื้นฐาน..
   ๒.วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ หรือกระจายเนื้อหาเป็นการคิดที่มุ่งให้มองและให้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาวะของมันเองอีกแบบหนึ่ง ในทางธรรมท่านมักใช้พิจารณาเพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสาร...ไม่เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงให้หายยึดมั่นถือมั่นในสมมติบัญญัติ โดยเฉพาะการพิจารณาเห็นสัตว์บุคคลเป็นเพียงการประชุมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕....
   ๓.วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง....อนิจจัง...ทุกขัง..... อนัตตา.....
    ๔.วิธีคิดแบบอริยสัจจ์/คิดแบบแก้ปัญหา  ....หลักการหรือสาระสำคัญ ก็คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือความทุกข์ที่ประสบ โดยกำหนดรู้ ทำความเข้าใจกับปัญหาคือความทุกข์นั้นให้ชัดเจน แล้วสืบค้นหาสาเหตุเพื่อเตรียมแก้ไข ในขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายของตนให้แน่ชัดว่าคืออะไร จะเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นไปได้อย่างไร แล้วคิดวางวิธีปฏิบัติที่จะกำจัดสาเหตุของปัญหา.......
    ๕.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ หรือความคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย คือพิจารณาให้เข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่าง ธรรม กับ อรรถ  หรือ หลักการกับความมุ่งหมาย เป็นความคิดที่มีความสำคัญมาก ในเมื่อจะลงมือปฏิบัติธรรมหรือทำตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย ไม่กลายเป็นการกระทำที่คลาดเคลื่อน เลื่อนลอย หรืองมงาย.....
   ๖.วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก......ตัวอย่างแสดงแนวคิดแบบคุณโทษและทางออกนี้ ก็คือ พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า อนุบุพพิกถา  ซึ่งเป็นแนวทางการสอนธรรมแบบหลักที่ทรงใช้ทั่วไปหรือใช้เป็นประจำโดยเฉพาะก่อนทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔  กล่าวถึง การครองชีวิตดีงาม โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือกัน ดำรงตนในสุจริต ที่เรียกว่า ทาน และศีล    แล้วแสดงชีวิตที่มีความสุขความอิ่มเอิบพรั่งพร้อมที่เป็นผลของการครองชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่า สัคคะ ...จากนั้นแสดงแง่เสีย ข้อบกพร่อง โทษ ความไม่สมบูรณ์เพียงพอของความสุข ความพรั่งพร้อมเช่นนั้น เรียกว่า กามาทีนวะ ...และในที่สุดแสดงทางออกพร้อมทั้งผลดีของทางออกนั้น เรียกว่า เนกขัมมานิสังสะ  เมื่อผู้ฟังเห็นผลดีของทางออกนั้นแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ ต่อท้ายตอนจบ....
    ๗.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม ...หรือการพิจาณาเกี่ยวกับปฏิเสวนา คือการใช้สอยบริโภค เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา...วิธีคิดแบบนี้ ใช้พิจารณาในการเข้าเกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค ใช้สอย ซื้อหา หรือการครอบครอง โดยมุ่งให้เข้าใจเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและผู้อื่น...เกื้อกูลความเจริญงอกงามของคุณธรรม...ไม่เป็นทาสของวัตถุ....เช่น อาหารที่กินด้วยปัญญาเพื่อคุณค่าแท้มื้อหนึ่งราคาสิบบาท  อาจจมีคุณค่าต่อแก่ชีวิตร่างกายมากกว่าอาหารมื้อเดียวราคา ๑,๐๐๐ บาท ที่กินด้วยตัณหาเพื่อสนองความอยาก หรือเพื่อเสริมราคาของตัวตนและหนำซ้ำอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกาย.......
    ๘.วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม อาจเรียกง่ายๆว่า วิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเท่าและขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฎฐิที่เป็นโลกิยะ.....
   ๙.วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน...ลักษณะของความคิดชนิดที่ไม่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ความคิดทีเกาะติดกับอดีตและเลื่อนลอยไปในอนาคตนั้น พูดได้สั้นๆ ว่าได้แก่ความคิดที่เป็นไปในแนวทางของตัณหา หรือคิดด้วยอำนาจตัณหา หรือพูดในภาษาสมัยใหม่ว่าตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์....อาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว..ฟุ้งซ่าน..ฝันเพ้อ..ปรุงแต่งซึ่งไม่มีฐานของความจริงในปัจจุบัน เพราะอึดอัดไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ ปรารถนาจะหนีจากปัจจุบัน......
 ๑๐.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท  ความจริง วิภัชชวาท ไม่ใช่วิธีคิดโดยตรง แต่เป็นวิธีพูด หรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามการคิดกับการพูดเป็นกรรมใกล้ชิดกันที่สุด ก่อนจะพูดก็ต้องคิดก่อน.....ตัวอย่างแห่ง วิภัชชวาท....
   อภัยราชกุมาร: พระองค์ผู้เจริญ คำพูดที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของผู้อื่น พระองค์ตรัสหรือไม่?
    พระพุทธเจ้า:  นี่แน่ะ ราชกุมารในเรื่องนี้ จะตอบลงไปข้างเดียวไม่ได้ (ต่อจากนั้น ได้ทรงงแยกแยะคำพูดที่ตรัสและไม่ตรัสไว้มีใจความต่อไปนี้)
      ๑)คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น  -  ไม่ตรัส
      ๒)คำพูด ที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๓)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
      ๔)คำพูดไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๕)คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น - ไม่ตรัส
      ๖)คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่น - เลือกกาลตรัส
ฯลฯ
(จากหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)




*********************

วิธีชนะใจตนเอง (คลิก)

...................................

1 ความคิดเห็น:

  1. ฯลฯ
    องค์คุณของพระโสดาบัน(โสดาปัตติยังคะ) หรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา(ปัญญาวุฒิ) ๔ ประการคือ
    ๑.สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ การคบคนดี
    ๒.สัทธรรมสวนะ การสดับสัทธรรม การฟังหรือเรียนรู้ธรรมที่ถูกต้อง
    ๓.โยนิโสมนสิการ การทำใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี การรู้จักคิด
    ๔.ธรรมานุธรรมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยแก่ธรรมใหย๋ การปฏิบัติธรรมถูกหลัก
    ความจริงธรรมหมวดนี้มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งชื่อว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตผล ดังพุทธพจน์ว่า
    "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประจักษ์แจ้ง โสดาปัตติผล...เพื่อประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอนาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอรหัตตผล: ๔ อย่างอะไรบ้าง ได้แก่ สัปปุริสสังเสวะ สัทธรรมเสวนะ โยนิโสมนสิการ ธรรมนุธรรมปฏิบัติ..."
    ฯลฯ
    จากหนังสือ วิธีคิดตามหลีกพุทธธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

    ตอบลบ