หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

จิตหลงมายา..



...จิตหลงมายาและทางดับกิเลส...
...ฯลฯ...
      ข้อที่เรียกว่ามายานั้น ถ้าพิจารณาก็พอเห็นได้ว่าเป็นมายาจริง ดังรูปทั้งหลายที่ตาเห็น เช่น ร่างกายของกันและกัน ก็เห็นแค่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ใต้หนังเข้าไปก็มองไม่เห็น และ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั้น ก็เป็นไปตามวัย เมื่ออยู่ในวัยที่งดงามเปล่งปลั่งก็งดงามเปล่งปลั่ง เมื่อผ่านวัยที่งดงามเปล่งปลั่งไปแล้ว ก็ทรุดโทรมชำรุด และประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่งดงามและสกปรกภายในพื้นหนังที่หุ้มห่ออยู่นี้เป็นอันมากและเปิดออกดูแล้ว ก็จะไม่ปรากฏเป็นสิ่งที่งดงามน่ารักน่าชม เป็นสิ่งที่น่าเกลียดทั้งโดยสี ทั้งโดยสัณฐาน ทั้งโดยกลิ่น ทั้งโดยที่เกิด ทั้งโดยที่อยู่ เพราะฉะนั้นความงดงามที่ปรากฏอยู่ จึงมีอยู่แค่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ตามองเห็น และที่กำลังอยู่ในวัยที่เปล่งปลั่งและที่มีการตกแต่ง มีการชำระล้างตกแต่งไว้แล้ว
     เสียงก็เช่นเดียวกัน ก็สักแต่ว่าเป็นเสียง จะเป็นเสียงนินทา เสียงสรรเสริญ ก็เป็นแค่เสียง ความเป็นเสียงนั้น จะเป็นนินทาก็ตาม สรรเสริญก็ตามไม่แตกต่างกัน เหมือนอย่างลมที่มากระทบตัวเองของทุกคน จะมาทางทิศไหนก็ไม่ต่างกัน จะพัดเบาพัดแรงก็เป็นลม แต่เพราะว่ามีภาษา คือ เสียงนั่นเองเป็นภาษา แต่ก็มีสมมติภาษานั้นขึ้น บัญญัติภาษานั้นขึ้นสำหรับสื่อให้รู้จิตใจซึ่งกันและกัน จึงทำให้ติดในสมมติบัญญัติตามที่เสียงนั้นแสดงออก แต่ว่าเสียงที่แสดงออกเป็นภาษานั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นความจริง ทั้งสรรเสริญ ทั้งนินทา ในเมื่อสรรเสริญผิด นินทาผิด เช่นว่า ทำชั่วสรรเสริญว่าทำดีก็ไม่ทำให้ผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าดีนั้นดีขึ้นมาได้ ต้องชั่วตามที่ตนทำนั่นเอง เมื่อทำดีแต่ถูกนินทาว่าชั่ว ก็ไม่ทำให้ความดีกลับเป็นความชั่วได้ ทำดีก็เป็นทำดีอยู่นั่นเอง แต่บุคคลติดอยู่ในสมมติบัญญัติของภาษา จึงได้มีนินทา มีสรรเสริญ ทำให้เสียงที่สักแต่ว่าเป็นลม หรือดังที่เรียกว่า ลมปาก มีพลังอำนาจขึ้น ด้วยการยึดถือในสมมติบัญญัติเป็นภาษาของเสียง
      กลิ่นนั้น จะเป็นอย่างไรก็แค่ประสาทจมูก พ้นประสาทจมูกไปแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร
      รส นั้นก็เช่นเดียวกัน อร่อยหรือไม่อร่อย ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็อยู่แค่ลิ้น พ้นประสาทลิ้นไปถึงคอแล้ว ความอร่อยหรือไม่อร่อยต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ
      สิ่งที่กายถูกต้องก็เหมือนกัน ก็ปรากฏว่าเป็นอย่างไรอยู่แค่กายประสาท พ้นกายประสาทเข้าไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าเป็นความรู้สึกอย่างไร
       ธรรมะคือเรื่องราวทางใจต่างๆ ที่จิตมาปรุงคิดหรือคิดปรุง ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ที่ความปรุง เหมือนอย่างพ่อครัวที่ปรุงอาหาร จะปรุงให้มีรสเค็มก็เค็ม จะปรุงให้มีรสเปรี้ยวก็เปรี้ยว จะปรุงให้มีรสหวานก็หวาน  จิตก็เหมือนกันจะปรุงให้ชอบก็ชอบ จะปรุงให้ชังก็ชัง จะปรุงให้หลงก็หลง ถ้าจิตไม่ปรุงเสียอย่างเดียว ชอบ ชัง หลง ก็ไม่ปรากฏ  สิ่งเหล่านี้เป็น มายา ทั้งนั้น
         แต่ว่าจิตนี้  เพราะยังมีอวิชชาอยู่จึงไม่รู้ถึงสัจจะหรือความจริง รู้แค่มายา ก็ติดอยู่แค่มายา และปรุงแต่งกันอยู่แค่มายา โลกเป็นดังนี้.........
...ฯลฯ....
(จาก ซีดี ธรรมะ "หายใจให้เป็นสุข" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก)
*****



**********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น