หน้าเว็บ

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559

สติ


..ฯลฯ..
      ..."สติ"สติเป็นธรรมที่เรารู้จักกันดี แปลว่าความระลึกได้ ระลึกได้อย่างไร ท่านบอกว่า สตินั้นมีลักษณะที่เป็นเครื่องดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ ซึ่งภาษาธรรมเรียกว่า "อารมณ์" ดึงจิตหรือกุมจิตไว้กับอารมณ์
      อารมณ์ในที่นี้ก็คือ สิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องทุกอย่าง สิ่งที่เรารับรู้ สิ่งที่ใจเรานึกถึงได้ เรียกว่า "อารมณ์" ไม่ใช่อารมณ์อย่างในภาษาไทย ในที่นี้เพื่อกันความสับสนกับภาษาไทยก็จะพูดว่า สิ่งแทนที่จะพูดว่าอารมณ์
      สติมีหน้าที่ดึงหรือตรึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ ถ้าเราจะทำอะไรก็ให้จิตระลึกถึงสิ่งนั้น ดึงเอาไว้เหมือนเชือก สมมติว่ามีหลักปักไว้ และมีสัตว์ตัวหนึ่งเป็นต้นว่าลิงถูกเชือกผูกไว้กับหลักนั้น  จิตของเรานี้เปรียบได้กับลิงเพราะวุ่นวายมาก ดิ้นรนมาก อยู่ไม่สุข ท่านเปรียบว่าต้องผูกลิงเอาไว้กับหลัก มิฉะนั้นลิงก็จะหนีไปไม่อยู่กับที่ หรือหลุดไปเลย  สิ่งที่จะผูกลิงคือเชือก เมื่อเอาเชือกมาผูกลิงไว้กับหลัก ลิงไปไหนไม่ได้ ก็วนอยู่กับหลักหรือใกล้ๆหลัก
      ท่านเปรียบในทางธรรมว่า จิตนั้นเหมือนกับลิง หลักที่ผูกไว้นั้น เหมือนกับสิ่งที่เราเกี่ยวข้องต้องทำในขณะนั้น จะเป็นกิจที่ต้องทำหรือเป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็คือหลักนั้น  เชือกที่ผูกก็คือสติ สติเป็นตัวที่ผูกจิตไว้กับหลักหรือสิ่งนั้น ดึงไว้ คุมไว้ กำกับไว้ ไม่ให้หลุดหายไป
      ถ้าเป็นสิ่งเฉพาะหน้า ซึ่งปรากฏหรือโผล่เข้ามา ก็เพียงแต่ดึงจิตไว้กับสิ่งนั้นๆ กุมไว้ กำกับไว้ไม่ให้หลุดลอยหรือผ่านหายไปไหน อย่างที่พูดกันว่า เวลาทำอะไรก็ให้ระลึกไว้ คือคอยนึกถึง สิ่งที่เรากำลังทำนั้น นึกถึงอยู่เรื่อยๆ ให้สิ่งนั้นอยู่ในการรับรู้ หรืออยู่กับจิตของเรา ไม่ให้คลาดไม่ให้พลัดกันไป อย่าให้สิ่งนั้นหลุดหายหรืออย่าให้จิตของเราฟุ้งซ่านล่องลอยไปที่อื่น
      แต่ที่นี้ ถ้าสิ่งนั้นอยู่ห่างไกลออกไปไม่ปรากฏอยู่ เช่นเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ธรรมคือคำสอนทีได้ฟังมาก่อนหรือสิ่งที่ได้เล่าเรียนไว้ เมื่อหลายวันหรือหลายเดือนมาแล้ว สิ่งนั้นอยู่ห่าง สติก็ทำหน้าที่ดึงเอามา เมื่อกี้นี้ดึงไว้ไม่ให้ไปไหนให้อยู่กับสิ่งนั้น ทีนี้ถ้าสิ่งนั้นอยู่ห่างก็ดึงเอามา หรือดึงจิตไปไว้กับสิ่งนั้นให้ไปอยู่ด้วยกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่า สติ
      สติ ดึงเอาจิตมากำกับไว้กับสิ่งที่ต้องการ หรือสิ่งที่เราควรจะเกี่ยวข้อง ทำให้สิ่งนั้นอยู่ในการรับรู้ของจิต ไม่หลุดลอย ไม่หล่นหาย ไม่พลัดกันไปเสีย นี้คือหน้าที่ของสติ ประโยชน์ของสติก็อยู่ตรงนี้ ...
    ..ฯลฯ..
(จากหนังสือ โพชฌงค์ พุทธวิธีเสริมสุขภาพ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 
******************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น