หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ผู้อยู่เป็นสุขทุกเมื่อ


....ฯลฯ....
....คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ที่ลาดด้วยใบไม้ (ปณฺณสนฺถเร) (ที่หล่นเอง โดยการกวาดมารวมกันเป็นกอง มีผ้าจีวรปูทับอีกทีหนึ่ง แล้วประทับนั่งบนนั้น) ในป่าสีสปา คือป่าประดู่ลาย(สีสปาวัน หรือ สิงสปาวัน) ใกล้ทางโค  เมือง อาฬาวี 
    ครั้นนั้น หัตถกราชกุมาร ชาวเมืองอาฬาวี เที่ยวเดินเล่นอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้า ทูลถามว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทมเป็นสุขดีอยู่หรือ ? "  พระศาสดาตรัสตอบว่า " บรรดาผู้ที่นอนเป็นสุขทั้งหลาย เราเป็นผู้หนึ่ง "
     หัตถกราชกุมาร ทูลว่า " ตอนนี้เป็นราตรีฤดูหนาวระหว่าง ๘ วันแห่งสมัยหิมะตก อากาศหนาวจัด พื้นดินแข็งแตกระแหง กองใบไม้ที่ประทับนั่งก็แห้งบาง ต้นไม้มีใบห่าง ผ้ากาสายะของพระองค์ก็เย็น ลมหนาวก็พัดมาเสมอ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงบรรทมเป็นสุขอย่างไร ?"
      พระศาสดาตรัสยืนยันการบรรทมเป็นสุขเหมือนเดิม และตรัสถามเพื่อให้หัตถกกุมารตอบตามความเห็นตามความจริงว่า " คหบดีหรือบุตรของคหบดี นอนในเรือนยอดอันสวยงาม มีประตูหน้าต่างมิดชิด ลมเข้าไม่ได้ มีบังลังก์(ที่นั่ง) ซึ่งลาดด้วยผ้ามีขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดชนิดต่าง ๆ ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางทั้งสองข้าง มีประทีปโคมไฟสว่างไสว มีปชาบดี(ภริยา)งาม ๆ ๔ นางบำรุงบำเรอให้เพลิดเพลินเจริญใจ พวกเขาพึงนอนเป็นสุข นั่งเป็นสุขหรือไม่ ? "
       " ต้องเป็นสุขแน่นอน พระเจ้าข้า " หัตถกะทูลตอบ
      พระศาสดาตรัสถามต่อไปว่า
       " ความเร่าร้อนทางกาย ทางจิตอันเกิดจาก ราคะ โทสะ โมหะ  อันเผาลนให้เขาเป็นทุกข์มีหรือไม่ ? "
       " มีแน่นอนพระเจ้าข้า "
       " ดูก่อนหัตถกะ  ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเครื่องเผาลนทำให้เร่าร้อน  นั่งนอนเป็นทุกข์เราได้ตัดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นได้แล้ว ไม่ให้เกิดไม่ให้มีขึ้นได้อีก เพราะเหตุนี้แหละเราจึงนั่งนอนเป็นสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ "
       พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า
        " พราหมณ์ (พระขีณาสพ,พระอรหันตฺ) ผู้ดับสนิทแล้วย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย เย็นสนิท ไม่มีกิเลส ตัดเครื่องเสียดแทงใจออกได้หมดแล้ว นำความกระวนกระวายใจออกได้แล้ว ถึงความสงบแห่งใจ ย่อมอยู่เป็นสุข " ดังนี้
                                                           ๒๐/๑๗๓/๔๗๕
 ....ฯลฯ....
********
(จากหนังสือ ปกิณกธรรม เล่ม ๒  โดย วศิน อินทสระ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น