หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ควรเชื่อใครดี..


******
จากข้อความบางส่วนใน " กาลามสูตร " อํ.ติ. ๓๔/๕๐๕/๓๓๗
...เมื่อใดท่านรู้ด้วย(ปัญญา)ตนเอง ว่า...
๑.สิ่งเหล่านี้ เป็นกุศล (ฉลาด) คือ ไม่โลภ ไม่โกรธ และรู้แจ้งอริยสัจ ๔
๒.สิ่งเหล่านี้ ไม่มีโทษ
๓.สิ่งเหล่านี้ ท่านผู้รู้(บัณฑิต)ไม่ติเตียน
๔.สิ่งเหล่านี้ ถ้าประพฤติเต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อ..ประโยชน์  เป็นไปเพื่อ..ความสุข
    เมื่อนั้น ท่านพึงเจริญ ธรรมเหล่านั้น (หรือคือ สิ่งที่..ควรเชื่อ)
******
...เมื่อใดท่านรู้ด้วย(ปัญญา)ตนเอง ว่า...
๑.สิ่งเหล่านี้ เป็นอกุศล (ไม่ฉลาด) คือ โลภ โกรธ และไม่รู้แจ้งอริยสัจ ๔
๒.สิ่งเหล่านี้ มีโทษ
๓.สิ่งเหล่านี้ ท่านผู้รู้(บัณฑิต) ติเตียน
๔.สิ่งเหล่านี้ ถ้าประพฤติเต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อ..สิ่งไม่เป็นประโยชน์  เป็นไปเพื่อ..ความทุกข์
    เมื่อนั้น ท่านพึง ละ ธรรมเหล่านั้นเสีย  (หรือคือ สิ่งที่..ไม่ควรเชื่อ)
******
     คนโดยส่วนมากมักเข้าใจผิดอ้างหลักการเชื่อ ตามหลักกาลามสูตร เพียง ๑๐ ข้อ ที่พระพุทธเจ้าสอนว่า..อย่าเชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญของหลักการเชื่อที่พระพุทธเจ้าทรงชี้สอน ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า..พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อใคร..แค่นั้น  แต่ไม่รู้หลักการเชื่อที่ถูกต้อง..เลยกลายเป็นคนไม่เคารพเชื่อถือใคร  แต่กลับเชื่อถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ หรือกลายเป็นคนหัวดื้อไม่เชื่อถือผู้ใหญ่ หรือไม่เคารพต่อคำสอนของพระศาสดา ทำให้เกิดปัญหาดำเนินชีวิตผิดพลาดมากมาย
      อันทีจริงแล้ว หากศึกษาจากพระไตรปิฎกตามหลักฐานที่ปรากฏข้างต้นนั้น จะพบว่า ยังมีข้อความปรากฏเป็นประเด็นสำคัญของหลักการเชื่อที่ชัดเจนอีก ๔ ข้อ ต่อจากข้อความทั้ง ๑๐ ข้อนั้น จึงขอให้ท่านศึกษาหลักการตัดสินว่า..สิ่งใดควรเชื่อ หรือสิ่งใดไม่ควรเชื่อ ตามหลักกาลามสูตรแบบสมบูรณ์ชัดเจน ดังที่ยกมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ 
******
...สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จจาริกไปในโกศลชนบทถึงเกสปุตตนิคม ซึ่งเป็นที่อยู่แห่งหมู่ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้พร้อมกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้ทูลถามถึงการที่สมณะพราหมณ์ทุก ๆ หมู่บ้านที่มาถึงเกสปุตตนิคม ได้แสดงแต่ถ้อยคำของตนเชิดชูให้เห็นว่าดี ชอบ ควรจะถือตามโดยส่วนเดียว พูดคัดค้านข่มถ้อยคำของผู้อื่น จึงเกิดความสงสัยว่า.." สมณะพราหมณ์เหล่านี้ ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ "
      พระผู้มีพระภาคเข้าได้ตรัสว่า...ควรแล้วที่ท่านจะสงสัย ความสงสัยของท่านเกิดขึ้นแล้วในเหตุควรสงสัยจริง
๑.ท่านอย่าได้ถือโดย ได้ฟังตามกันมา
๒.ท่านอย่าได้ถือโดย ลำดับสืบ ๆ กันมา
๓.ท่านอย่าได้ถือโดย ความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ
๔.ท่านอย่าได้ถือโดย อ้างตำรา
๕.ท่านอย่าได้ถือโดย เหตุนึกเดาเอา
๖.ท่านอย่าได้ถือโดย นัยคือคาดคะเน
๗.ท่านอย่าได้ถือโดย ความตรึกตามอาการ
๘.ท่านอย่าได้ถือโดย ชอบใจว่าตรงกับลัทธิของตน
๙.ท่านอย่าได้ถือโดย เชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
๑๐.ท่านอย่าได้ถือโดย ความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา
      จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประเด็นสำคัญ ๔ ประการของหลักการตัดสินว่า...สิ่งใดควรเชื่อ หรือสิ่งใดไม่ควรเชื่อ ดังข้อความที่ปรากฏข้างต้นนี้...
(จากหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุข โดย ภิกษุณี รุ้งเดือน นฺนทญาณี อารามภิกษุณี นิโรธาราม)
******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น