หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ..


ยสะเจดีย์ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ เมืองพาราณสี

     มีกุลบุตรผู้หนึ่งชื่อ ยสะ เป็นบุตรของเศรษฐีเมืองพาราณสี ครั้นนั้นเป็นฤดูฝน ยสะกุลบุตรอยู่ปราสาทที่เหมาะแก่ฤดู มีหญิงล้วน ๆ ขับร้องประโคมดนตรี คืนวันหนึ่งยสะตื่นขึ้นมายามดึก เห็นอัปกริยาของหญิงนางบำเรอมีอาการต่าง ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงสวมรองเท้าเดินออกจากบ้าน ไปตามทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันเดินพลางบ่นไปพลางว่า " ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ " ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมได้ยินเข้า จึงตรัสไปว่า " ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญทางนี้เถิด และนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน " ยสะได้ยินดังนั้นจึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าถวายนมัสการ แล้วนั่งลงที่สมควรแห่งหนึ่ง
      พระพุทธองค์ทรงแสดง อนุปุพพีกถา ๕ ประการ แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ พอจบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม...
     ฝ่ายมารดาของยสะตื่นขึ้นตอนเช้าไม่เห็นลูกชาย จึงบอกแก่สามีและจัดแจงให้คนใช้ไปตามหา ส่วนเศรษฐีผู้บิดาของยสะ เดินไปตามลูกชายที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าก็จำได้จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเทศนา อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ เหมือนกัน พอจบธรรมเทศนาเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม...ส่วน ยสะ สำเร็จพระอรหันต์...(จากหนังสือ เรียนรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ฉบับธรรมศึกษา ชั้นตรี)
         *******
อนุปุพพีกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจจ์  พระองค์ทรงเลือกแสดงธรรมให้ตรงกับอุปนิสัย ตรงกับเหตุการณ์ ถูกกับจริตของแต่ละบุคคล มี ๕  คือ
๑.ทานกถา พรรณาทาน ประโยชน์ของการให้ ละความเห็นแก่ตัว การสงเคาระห์ช่วยเหลือผู้อื่น
๒.สีลกถา พรรณาศีล การไม่เบียดเบียน รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ไม่ก่อภัยให้เกิดขึ้น
๓.สัคคกถา พรรณาสวรรค์ สมบัติ ความสุขที่พรั่งพร้อม ที่ผู้ให้ทานและผู้มีศีลจะพึงได้รับในโลกมนุษย์และสวรรค์จากรสของกิเลสกามและวัตถุกาม
๔.กามาทีนวกถา พรรณาโทษของกาม รสอร่อยของกิเลสกามและวัตถุกามที่ได้มาจากการมีความรู้ มีทรัพย์และมีความประพฤติดี แม้ว่าจะเป็นความสุข แต่ก็ยังเจือด้วยทุกข์ต่าง ๆ ไม่ควรเพลิดเพลิน ควรเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน
๕.เนกขัมมานิสังสกถา พรรณาอานิสงส์แห่งการออกจากกามคือ การทำจิตให้ออกจากกิเลสกาม และวัตถุกาม ด้วยการกำจัดกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้ออกจากจิต อันเป็นจุดหมายสูงสุดในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์
(เรียบเรียง จากพจนานุกรมพุทธศาสน์)
******



*****
ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ (คลิก)

******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น