หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แร้งคอย

(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)

       เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีภารกิจต้องไปที่แก่งคอย สระบุรี ...ก็เลยถือโอกาสเก็บภาพมาฝากทุกท่านที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน...ตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาว่า อำเภอแก่งคอย เดิมชื่อ " แร้งคอย " เนื่องจากเป็นเส้นทางสู่ดงพญาเย็น มีไข้ป่าชุกชุมผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีนกแร้งมาคอยกินซากศพ....

       วัดแก่งคอย คือ จุดหมายปลายทางของการเดินทางวันนี้
       เดินชมภายในวัดทราบว่าวัดนี้สร้างราวปี พ.ศ.๒๓๓๐ หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ๒๐ ปี..วัดนี้ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมามีหลายชื่อเปลี่ยนไปตามกาลเวลา..วัดแร้งคอย  วัดแก่งนางคอย ฯลฯ มีเจ้าอาวาสปกครองสืบต่อมาหลายรูป....

        หลวงพ่อลา นับเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ ( พ.ศ.๒๔๖๗ - พ.ศ.๒๔๙๗) หลวงพ่อลา เป็นที่เคารพนับถือของชาวแก่งคอยและประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าสิ่งของที่นิยมไปแก้บนหลวงพ่อคือขนมจีนหรือขนมครก ครับ


    หลังจากกราบขอพรจากหลวงพ่อลา แล้วก็ไปสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ภายในเจดีย์เป็นห้องโถงใหญ่เข้าใจว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุของพระอริยะสงฆ์  และรอยพระพุทธบาท   นอกจากนี้ก็มีภาพวาดพุทธประวัติ และภาพเรื่องรามเกียรติ์

       จากพระมหาธาตุเจดีย์ศรีป่าสัก  ก็ไปกราบนมัสการพระพุทธไสยาสน์นิมิตมงคลมุนีศรีแก่งคอย ที่วิหารสร้างใหม่ อยู่ใกล้ ๆ กับเจดีย์

        และที่จะต้องเยี่ยมชมอีกสถานที่หนึ่งในวัดแก่งคอยคือ อนุสาวรีย์ผู้ประสบภัยทางอากาศ สงครามโลกครั้งที่  ๒ เนื่องจากแก่งคอยเป็นชุมทางรถไฟถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อ ๒ เมษายน ๒๔๘๘ ฝ่ายตรงข้ามได้นำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่แก่งคอย ทำให้สถานที่ราชการ บ้านเรือนและประชาชน เสียชีวิต ในจำนวนนี้มีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิต  ญาติพี่น้องของชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวติจึงรวบรวมอัฐิแล้วสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระลึก...
..........

..ก่อนจะลาจากริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก..

...สัพเพ สัตตา....

       ยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็เลยถือโอกาสไปเดินไปชม สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย..ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดแก่งคอย..

ถึงอย่างไร รถไฟไทยก็ยังเป็น"ความหวัง" ของคนไทย ที่จะเดินทางด้วยค่าโดยสารราคาไม่แพงนัก...

********

.ใกล้เวลาสี่โมงเย็น กลับเข้ามาวัดแก่งคอยอีกครั้งหนึ่ง.
ภารกิจสำคัญของวันนี้.
" อะนิจจา วะตะ สังขารา "
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลาย
เป็นสุขอย่างยิ่ง
(บทพิจารณาสังขาร)
*******
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น