หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระพรหม..พรหมวิหารสี่

 


ในศาสนาพุทธ พระพรหม เป็นชาวสวรรค์ชั้นสูงกว่าเทวดาในฉกามาพจร และยังเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ แต่ในภพชาติก่อนจุติและปฏิสนธิเป็นพรหมมีกุศลมาก มีฌาณสมาบัติเป็นอารมณ์ เมื่อตายจึงไปเกิดที่สวรรค์ชั้นนี้) อยู่ในสวรรค์ที่เรียกว่าพรหมภูมิ (หรือพรหมโลก)

พระพรหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พรหมที่มีรูป เรียกว่า "รูปพรหม" มีทั้งหมด 16 ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป เรียกว่า "อรูปพรหม" มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม

ตามคติเถรวาท พระพรหมไม่มีเพศ ไม่ต้องกินไม่ต้องบริโภคอาหาร เหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยว่าแช่มชื่นอิ่มเอิบโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร จึงไม่ต้องขับถ่ายคูตรมูถ สถิตย์เสวยสุขพรหมสมบัติอยู่ ณ พรหมภูมิที่ตนอุบัติตราบจน กว่าจะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นเวลานานแสนนาน

ในมหายาน นับถือพระพรหมในฐานะธรรมบาล ซึ่งปรากฎอยู่ในพระสูตรต่าง ๆ ที่สำคัญ และถือเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง

******

พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ที่ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ ได้แก่

  1. เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
  2. กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
  3. มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
  4. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตาชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

Cr.วิกีพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น