หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปัญญา..ที่ควรรู้ (๑๐)

 ...ฯลฯ...
ความสุขที่เกิดจากจิตเป็นสมาธิ
      ความสุขที่เกิดจากจิตเป็นสมาธินี้ มีความสำคัญมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความสุขเป็นอาหารของจิต เหมือนกับข้าวปลาเป็นอาหารของกาย เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากขาดไปหก็ทำให้จิตแห้งเฉาไม่มีความสดชื่นร่าเริง  ไม่มีพลังของชีวิตในการสร้างสรรค์ และกระทำการต่าง ๆ
      บุคคลทั่วไป รู้จักแต่เพียงความสุขที่มาจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งในทางศาสนาเรียกว่า " กามสุข " หรือ "อามิสสุข"  ดังนั้น พลังชีวิตของบุคคลทั่วไป จึงขึ้นอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสซึ่งเป็นสิ่งภายนอก ว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ หากได้รับอย่างที่ต้องการก็จะมีความสุขและมีพลังในการสร้าง สรรค์ และกระทำสิ่งต่าง ๆ สูง แต่หากไม่ได้รับหรือสิ่งที่ได้รับอยู่ นั้น มีอันสูญหายหรือพลัดพรากไปก็จะทำให้เกิดทุกข์ แห้งเฉา ท้อแท้ และขาดพลังของชีวิตที่จะไปกระทำการต่าง ๆ
        ชีวิตของบุคคลทั่วไป จึงอยู่ในลักษณะแกว่งไป-มา ขึ้น ๆ ลง ๆ หาความเป็นปกติสุขที่แท้จริงได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก ซึ่งควบคุมได้ยาก และยังต้องคอยแย่งชิงและปกป้องในรูป เสียง เป็นต้นนั้นอยู่ตลอดเวลา
          ความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธินี้ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัย หรือไม่ต้องเนื่องกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นวัตถุหรือรูปธรรมใด ๆ ในทางศาสนาเรียกว่า " นิรามิสสุข " เป็นความสุขที่มาจากความบริสุทธิ์ผ่องใสแห่งจิตของบุคคลนั้นเอง จึงเป็นความสุขที่เป็นเอกเทศของบุคคล เป็นความสุขที่มั่นคง ที่ไม่ต้องหปแย่งชิงกับใครและไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปได้ นอกจากนั้นยังมีรสชาติของความสุขที่มีความสุขุมคัมภีรภาพ และไม่ทำให้บุคคลรู้สึกจืดชืดหรือเบื่อหน่าย ดังเช่น ความสุขที่มาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลาย จึงทำให้บุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิ มีจิตใจมั่นคง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกอิทธิพลของสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่คือเรื่องของวัตถุหรือความยียวนจากรสชาติของวัตถุ ครอบงำจิตใจให้หวั่นไหวหรือบีบคั้นให้ต้องไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรได้ง่าย
        ดังนั้น " บัณฑิตของแผ่นดิน " นอกจากจะต้องขวนขวายให้มีปัญญารอบรู้ในเรื่องธรรมชาติชีวิตของตนเองและกฏธรรมชาติหรือนิยาม ๕  ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังจะต้องฝึกฝนตนเองในเรื่องของ " สติ " และ " สมาธิ " ด้วย เพื่อให้มีคุณ ภาพ ของจิตใจ ที่พร้อมและเหมาะสม สามารถควบคุมจิตให้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามที่ปัญญารู้นั้น และมีความมั่นคง ที่สามารถยืนหยัดอยู่เหนืออิทธิพลครอบงำหรืออำนาจความยั่วยวนและบีบคั้นจากสิ่งต่าง ๆ ได้
,,,ฯลฯ...
(จากหนังสือ คู่มือ บัณฑิตของแผ่นดิน  จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ธรรมสถาน สำนักงานบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
...............
................
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น