วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

หนทางแห่งการหลุดพ้น


เหตุที่ทำให้หลุดพ้นทุกข์ ต้องเห็นและเดินตามทางนี้

๑. เห็นสังขารเป็นของไม่เที่ยง
(ทั้ง สังขาร ที่เป็นร่างกายเป็นของไม่เที่ยง
สังขาร ที่เป็นความคิดปรุงแต่งเป็นของไม่เที่ยง ก็จะไม่ยึด)
๒. เห็นกามเหมือนไฟ
(เห็นกาม ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธัมมารมณ์ เหมือนไฟ เป็นทุกข์ ก็จะไม่ยึด และ เข้าใกล้กาม เพราะเป็นเหตุแห่งทุกข์)
๓. มีจิตน้อมไปทางวิเวก (ชอบสงบ สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนได้ตนมี ไม่ เบียดเบียน ก็จะไม่ถูกเบียดเบียน)
๔. มีสติปัฏฐาน ๔ ภาวนา (ทั้งกาย เวทนา จิต ธรรม สติความระลึกได้ ใช้ภาวนา)
๖. มีโพชฌงค์ ๗ ภาวนา     (สติ ความระลึกได้ ธรรมวิจยะ การวินิจฉัยธรรม วิริยะ ความเพียร ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบ สมาธิ จิตตั้งมั่น อุเบกขา ความวางเฉย นี้องค์แห่งการรู้ธรรม)
๗. มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ภาวนา
(สัมมาทิฏฐิ คือ การเห็นชอบ  สัมมาสังกัปปะ คือ การดำริชอบ
 สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะคือ การประพฤติชอบ
 สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ คือ การเพียรชอบ สัมมาสติ คือ การตั้งสติชอบ  สัมมาสมาธิ คือ การตั้งมั่นชอบ)

ภูริทัตตา

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ไม่ทุกข์


โอวาทท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 วิธีฝึก 8 อย่าง จะได้ไม่ "ทุกข์"

1. ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่า จงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป

2. ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่า การสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย

3. ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่า อย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่า ความสมบูรณ์แบบมีจริง

4. ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่า ถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูด หรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำ และขุ่นมัว

5. ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่า อะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอ หมายความว่า เวลามีความสุข ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ ก็ให้รู้ว่า เดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้น ก็ให้รู้ทันว่า เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย

6. ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่อง ของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่า เราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทาขอให้รู้ว่า "เรามาถูกทางแล้ว" แปลว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกา กับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่า เราจะไม่ถูกนินทา

7. ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจาก ความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้ว ก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน

8. ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่า การที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้าง เป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้า คนๆ นั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ณ วัดโทรมๆแห่งหนึ่ง


ณ วัดโทรมๆ แห่งหนึ่ง...

เณรน้อยเล่าให้ภิกษุชราฟังด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ

"วัดเล็กๆ แห่งนี้ มีแต่ท่านกับข้าเพียง 2 รูป ตอนที่ข้าลงเขาไปบิณฑบาต ชาวบ้านเอาแต่พูดจาดูถูกถากถางข้า ว่าข้าเป็นเณรป่าบ้างละ ว่าข้าเป็นเณรบ้าบ้างละ ไม่ค่อยมีใครใส่ใจทำบุญ ค่าธูปค่าน้ำมันตะเกียงเลย"

"เช้านี้ตอนออกไปบิณฑบาต อากาศข้างนอก หนาวเย็นมาก แต่ก็ไม่มีใครเปิดประตูให้ข้าเลย อาหารที่บิณฑบาตมาก็น้อยนิดน่าเวทนา ท่านอาจารย์ขอรับ ที่ท่านเคยกล่าวว่า วัดของเราจะเจริญรุ่งเรือง เสียงระฆังที่อุบาสกอุบาสิกามาเคาะตีจะดังไม่ขาดสาย น่ากลัวว่าจะเป็นเพียงความฝันเสียแล้วขอรับ"

ภิกษุชราขยับกายและปรับจีวร จากนั้นก็นั่งหลับตาฟัง ไม่พูดอะไร
เณรน้อยเห็นว่าภิกษุชราไม่กล่าวอะไร ก็บ่นต่อไปเรื่อยๆ ครู่หนึ่งผ่านไป ภิกษุชราจึงเอ่ยขึ้นว่า

"ลมเหนือพัดมาไม่ขาดสาย เจ้าอยู่ข้างนอก หนาวไหม?"

"หนาวสิขอรับ! กระผมหนาวจนขาจะเป็นน้ำแข็งอยู่แล้ว"

เณรน้อยกล่าว

"ถ้าอย่างนั้น คืนนี้เรานอนให้เช้าสักหน่อยจะดีกว่านะ!"

ภิกษุชราเรียกให้เณรน้อยดับตะเกียง จากนั้นก็เข้าห้องเพื่อที่จะพักผ่อน

เมื่อผ่านไปประมาณหนึ่ง ภิกษุชราได้เอ่ยทำลายความเงียบว่า

"ตอนนี้เจ้ารู้สึกอุ่นหรือยัง?"

"อุ่นแล้วขอรับ ตอนนี้อุ่นเหมือนนอนอยู่ท่ามกลางแสงแดดอุ่นขอรับ"

เณรน้อยตอบ

"ผ้าห่ม ตอนที่วางอยู่ที่เตียง มันเย็นเฉียบ แต่เมื่อเรานำมันมาห่ม มันกลับอุ่นขึ้นทันที เจ้าคิดว่าผ้าห่มทำให้คนอุ่นหรือคนทำให้ผ้าห่มอุ่นล่ะ?"

ภิกษุชราเอ่ยถาม
เณรน้อยหัวเราะและตอบกลับไปว่า

"ท่านอาจารย์ ท่านนี่แสร้งถามผมแน่ๆ ผ้าห่มจะทำให้คนอุ่นได้อย่างไรกัน คนต่างหากที่ทำให้ผ้าห่มอุ่นนะขอรับ"

"ในเมื่อผ้าห่มให้ความอบอุ่นแก่เราไม่ได้ แถมเรายังต้องให้ความอบอุ่นแก่มัน แล้วเราจะห่มผ้าห่มไปทำไมกัน?"

เณรน้อยได้ฟังแล้วก็ครุ่นคิด

"แม้ผ้าห่มจะให้ความอบอุ่นแก่เราไม่ได้ แต่เพราะความหนาของผ้าห่มช่วยรักษาไออุ่นของตัวเราเอาไว้ได้ ทำให้เรารู้สึกอุ่นสบายภายใต้ผ้าห่มนั้นขอรับ"
เมื่อภิกษุชราได้ฟังก็ถึงกับหัวเราะออกมา

"ภิกษุอย่างพวกเราก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่นอนอยู่ใต้ผ้าห่มหนาๆ ผืนนั้น และเวไนยใต้หล้านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับผ้าห่มผืนหนาผืนนั้น ขอเพียงผู้บำเพ็ญอย่างเรามีจิตใจใฝ่ในความดี ผ้าห่มที่หนาวเย็นก็จะได้รับไออุ่นจากพวกเรา จากนั้นผ้าห่มก็จะเป็นผู้รักษาไออุ่นไว้ เรานอนอยู่ใต้ผ้าห่มจึงทำให้เรารู้สึกอบอุ่น แล้วที่ว่าวัดของเราจะเจริญรุ่งเรือง เสียงระฆังที่อุบาสกอุบาสิกามาเคาะตีจะดังไม่ขาดสาย ยังจะเป็นเพียงแค่ความฝันอยู่อีกหรือเปล่า?"

เมื่อเณรน้อยได้ฟัง ก็แจ้งใจในทันที

พอถึงวันรุ่งขึ้น เณรน้อยก็ตื่นแต่เช้า และรีบลงเขาไปบิณฑบาต แม้จะพบกับคำเสียดสีและสีหน้าดูแคลนจากผู้คน แต่เณรน้อยก็ยังสำรวมกิริยาต่อผู้คนเหล่านั้น

ยี่สิบปีให้หลัง วัดแห่งนี้ก็ได้สร้างพระอารามใหญ่ขึ้นมาบนเนื้อที่ใหม่ ไกลจากวัดเดิมสิบกว่าลี้ มีพระภิกษุก่อเกิดขึ้นอีกมากมาย และมีอุบาสกอุกบาสิกาเข้ามาถวายธูปอย่างไม่ขาดสาย เณรน้อยรูปนี้ก็กลายเป็นเจ้าอาวาสแทนภิกษุชราที่มรณภาพไป...

เราทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ ต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ผ้าห่มกันทั้งนั้น ผู้คนรอบข้างคือผ้าห่มผืนหนา และเมื่อใดที่เรามอบไออุ่นให้กับผ้าห่ม ผ้าห่มก็จะรักษาไออุ่นนั้นคืนให้กับเราเสมอ
............
Cr. Line Pichest Tritrakan


คนละเรื่องเดียวกัน...???



คำถามถึงเทวดา, พญานาค, พระภูมิเจ้าที่,
สัตว์เดรัจฉาน,เปรต, สัตว์ในนรก และมนุษย์
คำถามเดียวกัน แต่ต่างคำตอบ
ต่างภพภูมิ ต่างวาระ ต่างบารมี ต่างความคิด
ต่างการกระทำ ต่างจุดมุ่งหมาย
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อยากจะทำอะไร"
เทวดา ตอบว่า
"เราจะพิจารณาธรรม เพราะมนุษย์มีกายสังขาร ที่เหมาะกับการพิจารณาธรรมมาก ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาธรรมได้ดีที่สุด น่าอิจฉาพวกมนุษย์จริงๆ"
พญานาค ตอบว่า
"บวชสิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะบวช ... เป็นพญานาคมีฤทธิ์มากก็จริง แต่บวชไม่ได้ พ้นทุกข์ไม่ได้ ไม่เหมือนมนุษย์ พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้นาคบวช แต่มนุษย์บวชได้ มนุษย์สร้างบุญใหญ่ไปสวรรค์ชั้นสูง ไปแดนนิพพานได้ แสนประเสริฐ"
พระภูมิเจ้าที่ ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง คราวนี้เราจะไปทำบุญใส่บาตรทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรอคนอุทิศส่วนกุศลมาให้เราอีก ไปทำเองเลย เพิ่มบารมีได้เร็วทันใจดี"
สัตว์เดรัจฉาน ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะสงเคราะห์สัตว์ตัวอื่นๆ เป็นสัตว์นั้นทุกข์มาก พูดก็ไม่ได้ คิดอะไรฉลาดๆก็ไม่ได้
เป็นมนุษย์มีสมองมีปัญญา เราจะใช้ปัญญาของมนุษย์ทำให้ตัวเองไม่ต้องมาเป็นสัตว์อีก"
เปรต ตอบว่า
"เราไม่อยากมีหน้าตาน่าเกลียด ไม่อยากมีปากเท่ารูเข็ม มีรูปร่างสูงเหมือนต้นตาล
ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะถือศีล จะได้ไม่ต้องมาเป็นเปรตผู้หิวโหย อดๆ อยากๆ ทนทุกข์ทรมานแบบนี้"
สัตว์นรกในอเวจี ตอบว่า
"ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เราจะทำความดี จะไม่ผิดศีล5อีก จะปฏิบัติธรรม เพราะนรกมันร้อนมันโหดร้าย อยู่แล้วมีแต่ความเจ็บปวด ทุรนทุราย ถ้าข้ามีโอกาสอีกครั้ง เราจะไม่ทำเลว เราไม่อยากทรมาน ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นรกอีก"
แต่เมื่อถามคำถามเดียวกัน
มนุษย์ตอบว่า "อยากสมหวังรัก,อยากรวย,อยากมีตำแหน่งสูง,อยากมีอำนาจ แม้ต้องผิดศีล ทำร้ายใครก้อจะทำ"
อนิจจาใครหนอ..น่าสงสารที่สุด!
มนุษย์ผู้ที่อยากแต่ทรัพย์สมบัติภายนอกที่ยึดถือได้ชั่วคราว
ทั้งที่มีโอกาสจะทำบุญกุศลมากกว่าเพื่อน ทำให้มีอริยทรัพย์คือ
ทรัพย์อันประเสริฐเป็นของติดตัวไปทุกภพภูมิ
อยู่ภายในใจ มี ๗ สิ่ง คือ อริยทรัพย์
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตตะ จาคะ ปัญญา
==========================================
อริยทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐ
ติดตามข้ามภพ ข้ามชาติ
อริยทรัพย์เป็นของเฉพาะตัว
เป็นบุญเฉพาะตัว
อริยทรัพย์ประกอบด้วย
ศรัทธา ความเชื่อในพระรัตนตรัย พร้อมที่จะปฏิบัติตาม
ทำจริงมีความเพียร ความอดทน วิริยะบารมี ขันติบารมี ทำให้สำเร็จ
ศีล เป็นปกติ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตนเอง ศีลบารมี
เมื่อไม่เบียดเบียนก็ไม่ถูกเบียดเบียน มีสุข ก็จะสงบ นิ่ง มีสติ
มีสมาธิ มีปัญญา แก้ปัญหาได้ ไม่ทุกข์นั้นเอง
หิริ อายบาป ขึ้นชื่อว่าชั่วไม่ทำ ไม่สร้างเหตุชั่ว ไม่ดี ผลย่อมเจอแต่สิ่งดี ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น ทำดี ได้ดี ทำไม่ดี ได้ไม่ดี ทำดีบ้าง
ไม่ดีบ้าง ได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สลับกันไป ก็ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์บ้าง
โอตัปปะ กลัวบาป ขึ้นชื่อว่าบาปไม่ทำ ไม่สร้างเหตุที่ไม่ดี บาป กรรมไม่ดี เมื่อสร้างเหตุดี ผลย่อมดี ตามกฏแห่งกรรม
สุตตะ ฟังธรรม สะสมการฟังเป็นผู้ฟังมาก รอบรู้มาก คิด พิจารณา ไตร่ตรอง วิเคราะห์ มีหลัก กาลามาสูตร พิจารณาก่อนเชื่อสิ่งใด
จาคะ เสียสละ ให้ได้ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก มีมิตรมาก ไม่ขาดแคลน ทานบารมี
ปัญญา รู้รอบ แก้ปัญหาได้ ไม่ทุกข์ ทำใจได้ แม้ต้องเจอกับปัญหา ความทุกข์ ปัญญาบารมี
อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน ต้องทำควบคู่กับทรัพย์ภายนอก
ตราบใดที่ยังต้องเดินทางในสังสารวัฏ
อริยทรัพย์ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่ควรประมาท
ภูริทัตตา

Cr. ไลน์ ภูริทัตตา  Bhuritatta

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นิพพานสมบัติ


นิพพานสมบัติ คือ สมบัติแห่งนิพพาน 

นิ(ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา 

นิพพาน  หมายถึง ความไม่มีแห่งกิเลส และกองทุกข์

นิพพานสมบัติ  เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์

ผู้ที่จะเข้าสู่นิพพานได้ต้องชำระกิเลส 
ความโลภ ความโกรธ ความหลง 
ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต  ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ
ผู้ที่จะสำเร็จอรหันต์ได้นั้น ต้องสร้างบุญบารมีมามาเต็มเปี่ยมแล้ว 
เป็นผู้รู้โลกตาม ความเป็นจริง รู้ทุกข์ เข้าใจทุกข์ ไม่ทุกข์แล้ว

cr.ไลน์ ภูริทัตตา สามเณรี

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สวรรค์สมบัติ


ความสมบรณ์แห่งความเป็นสวรรค์สมบัติ คือ  หิริ และ โอตตัปปะ เมื่อมีทั้ง ๒ สิ่งทำให้มี  สวรรค์สมบัติ   สมบัติแห่งความเป็นเทวดา คือ ผู้ที่ทำบุญมาดีแล้ว

ผู้ที่จะไปสวรรค์ได้ ต้องมีคุณธรรมของเทวดา หิริ และ โอตตัปปะ  ขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่  ก็ประกอบแต่กรรมดี  มีคุณธรรมประจำใจ

หิริ ก็คือ ความละอายต่อบาป
โอตตัปปะก็คือการเกรงกลัวต่อผลของบาป
ผู้ที่ทำบุญมาดีแล้ว ผู้ใดสร้างกรรมดี มีทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นบุญบารมีที่ส่งผลให้ไปเกิดบนสวรรค์  ชั้นใดชั้นหนึ่งเมื่อสิ้นชีวิต
ผู้ที่ไปเกิดบนสวรรค์  ไม่ใช่เป็นผู้ที่หมดกิเลส เพียงแต่ผู้นั้นทำความดีมาก เกินกว่าที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์  ผลบุญจึงส่งให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั่วคราว  เมื่อหมดบุญแล้ว  จะต้องจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือลงนรกได้อีกแล้วแต่กรรมดี  กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ ในชาติที่เป็นมนุษย์

สวรรค์สมบัติ คือ ผู้ที่มีเทวธรรม
เทวธรรม คือธรรมของเทวดา

ผู้มี หิริ โอตตัปปะ
มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป
ย่อมมีสวรรค์สมบัติ คือที่หมายเป็นอย่างน้อย

สวรรค์ เป็นสุคติภูมิ
สวรรค์ เป็นภูมิแห่งการเสวยผลบุญ เจริญตาเจริญใจ สวรรค์ ก็ยังไม่พ้นทุกข์ ก็ยังต้องกลับมาเกิดอีก เป็นเพียงที่พักในการเดินทางในสังสารวัฏชั่วคราว

ภูริทัตตา

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มนุษย์สมบัติ



ความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ มี ๘ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สมบัติแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ทำบุญมาดีแล้ว

๑. รูปร่างหน้าตาสวยงาม ครบบริบูรณ์  เพราะในอดีต เป็นคนมีศีล ไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตผู้อื่น
๒. มีทรัพย์สมบัติมาก บริบูรณ์ ไม่ขาดแคลน ขัดสน เพราะในอดีต เป็นผู้ทำทานมาดี
๓. มียศถาบรรดาศักดิ์ เกิดในตระกูลสูง
เพราะในอดีตเป็นผู้อ่อนน้อม เคารพผู้ใหญ่
๔. มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นเคารพยกย่อง
เพราะในอดีตเป็นผู้อ่อนน้อม เคารพผู้ใหญ่
๕. มีเพื่อน มีบริวารมาก เพราะในอดีต ช่วยเหลือผู้อื่นไว้มาก ชวนคนอื่นทำทาน
๖. ฉลาด มีสติปัญญาดี แก้ปัญหาเก่ง
เพราะอดีตเป็นผู้ฟังธรรมมาดี ฝึกสติและภาวนามาดี
๗. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์
เพราะในอดีตเป็นผู้รักษาศีล ไม่เบียดเบียนสัตว์ ทำร้ายผู้อื่น
๘. มีอายุยืนยาว เพราะในอดีต เป็นผู้รักษาศีล ไม่เบียดเบียนสัตว์ และ ทำร้ายผู้อื่น

มนุษย์สมบัติ ผู้ใดทำมาดีแล้ว มีมาแล้ว
ก็จะช่วยสะดวกสบายในการที่จะสร้างบารมี
ต่อไป

ภูริทัตตา