วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง (๒)


...ฯลฯ...  
การศึกษากับการปฏิบัติ ไม่ใช่คนละอย่าง
 ...ฯลฯ...
     เพราะฉะนั้น ในทางพระศาสนา จึงมีคำใช้ ๓ คำ เรียงลำดับกันว่า ปริยัติ  ปฏิบัติ และปฏิเวช  ถ้าใช้ ๒ ก็เหลือ ศึกษาและปฏิเวช ในพระไตรปิฎก บางแห่งท่านใช้ศึกษาคู่กับปฏิเวชไปเลย เพราะศึกษานั้นนับรวมทั้งปฏิยัติและปฏิบัติไปแล้ว จึงก้าวไปถึงปฏิเวชได้เลย
      ในการใช้คำว่าการศึกษาในปัจจุบัน ถ้าจะเข้าถึงความหมายที่แท้จริง จะต้องให้คำว่าการศึกษานี้คลุมไปถึงการฝึกหัด การลงมือทำ หรือการปฏิบัติด้วย
       เป็นอันว่า ตอนนี้เราได้มาถึงความหมายของศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กัน ๓ คำ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวช
       ปริยัติ เป็นขั้นเล่าเรียน รับฟังผู้อื่นมา โดยเฉพาะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ซึ่งสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก และเรามีครูอาจารย์แนะนำบอกกล่าว เอามาท่องมาบ่น มาสอบสวนทบทวนกัน ทั้งหมดนี้เรียกว่า ปริยัติ
        เมื่อเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนนั้นมาลงมือทำ ก็เป็น ปฏิบัติ การปฏิบัติก็คือตัวศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าขยายสำหรับคฤหัสถ์นิยมใช้คำว่า  ทาน ศีล ภาวนา
...ฯลฯ...
*****
(จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) )
*****
ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง (๑)


      



  




วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง

   ...ฯลฯ...
ปฏิบัติธรรม คืออย่างไร
       คำว่า ปฏิบัติธรรม นั้น หมายความว่าอย่างไร ปฏิบัติธรรม ก็คือ เอาธรรมมาปฏิบัติ เอาธรรมมาใช้ เอามาใช้ดำเนินชีวิตทำงานทำการ คือเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงนั่นเอง เมื่อปฏิบัติธรรมก็หมายถึงว่า เอาธรรมมาใช้ในชีวิตจริงหรือเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต  ถ้ายังไม่ได้ใช้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ
         ว่าถึงตัวคำว่า "ปฏิบัติ " เองนี้ เดิมนั้นแปลว่า"เดินทาง"มาจากภาษาบาลี ของเดิมนี้มีคำคล้าย ๆ กันอีกคำหนึ่งคือ "ปฏิปทา"
           "ปฏิปทา" แปลว่าอะไร จะเห็นได้ในคำว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" ที่เราแปลกันว่า "ทางสายกลาง" "มัชฌิมา"แปลว่าสายกลาง และ ปฏิปทา แปลว่า ทาง  ทางคืออะไร ทางนั้นคือที่ที่จะเดิน คำว่า ปฏิปทา ก็คือ ที่ที่จะเดิน
  ...ฯลฯ...
           การเดินทางตามปกตินั้น เป็นการเดินทางภายนอก เป็นการเดินทางทางด้านวัตถุ เอาเท้าเดิน หรือแม้มีรถแล้ว เอารถวิ่งไป ตลอดจนไปด้วยเครื่องบิน ก็เรียกว่า เป็นการเดินทาง
            ทีนี้ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ชีวิตก็เป็นการเดินทางชนิดหนึ่ง แต่เรามักเปลี่ยนคำพูดจากเดินมาเป็นดำเนิน ที่จริงเดินกับดำเนินนั้น ก็ศัพท์เดียวกันนั่นแหละ เดินก็แผลงมาเป็นดำเนิน แล้วเราก็มีการดำเนินชีวิต ในการดำเนินชีวิตนั้น ก็เหมือนกับว่าเราเอาชีวิตนี้ไปเดินทาง หรือว่าการเป็นอยู่ของเรานั้นเปรียบเสมือนทาง ถ้าเป็นอย่างถูกต้อง ก็เรียกว่าเดินทางชีวิตอย่างถูกต้อง คือดำเนินชีวิตได้ดี ถ้าเดินทางชีวิตไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่าดำเนินชีวิตที่ผิด
   ...ฯลฯ...
            พูดง่าย ๆว่า การปฏิบัติธรรม คือการเอาธรรมมาใช้นั้นเอง ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตเรา
            เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องกว้างๆ ไม่เฉพาะการที่จะปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่ที่วัด ไปอยู่ที่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริง ๆ จัง
             ถ้าจะเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ การปลีกตัวไปปฏิบัติแบบนั้นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติแบบ intensive เป็นการปฏิบัติแบบเข้มข้น หรือลงลึกเฉพาะเรื่อง
              ที่จริงนั้นการปฏิบัติธรรมต้องมีตลอดเวลา เรานั่งกันอยู่ในที่นี้ ก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม คือเอาธรรมมาใช้ เมื่อปฏิบัติสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
              เมื่อทำงานหรือทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ตั้งใจทำใจทำให้ดี ให้เกิดคุณประโยชน์ ให้สำเร็จความมุ่งหมายที่ดีงาม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม
   ...ฯลฯ...
(จากหนังสือ ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) )
******

********


วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

จิตตก


    ...ฯลฯ...
      การภาวนาในทางพุทธศาสนานี้ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ๆ ไป  ใครตั้งใจดีก็ได้รับความสงบสุขเยือกเย็นในใจตน  เป็นคนดีไป
       ถ้าใจไม่สงบระงับ ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมจิตใจ จิตใจก็จะมีแต่ตกต่ำเรื่อยไป ขึ้นสูงไม่ค่อยจะได้
       เวลาเรานั่งสมาธิภาวนา ปฏิบัติบูชาอย่างนี้ต้องมีสติเต็มที่ ท่านว่าเป็นมหาสติปัฏฐานสี่ ระลึกอยู่ในกาย เวทนา จิต ธรรม วันไหน คืนไหน เวลาใดก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเวลาปฏิบัติธรรมะ ได้ทุกลมหายใจเข้าออก
       ถ้าจิตมันเกิดประมาทขึ้นมา ไม่มองเห็นซึ่งภัยอันตรายคือความตายนั้น ท่านก็ให้นึกให้เจริญ เตือนใจว่าชีวิตของเราที่เกิดมานี้ มีความตายเป็นผลที่สุด


  ...ฯลฯ...
(จากหนังสือ สุข สงบ เยือกเย็น ๑๐๔ ปี ชาตกาล หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่)
*****

*****

*****

*****

*****

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ศีล ๕ ทางมาของบุญ


ทาน...ศีล...ภาวนา ธรรมทั้ง ๓ นี้
เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์
ต้องเป็นผู้สั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย
ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
ด้วยมนุษย์อย่าแท้จริง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ฯลฯ
                  การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา  ถือเป็นวิธีการทำบุญที่เป็นหลักใหญ่ที่สุด ๓ วิธี นิยมเรียกกันว่า " ทาน ศีล ภาวนา "
           การให้ทาน เป็นการทำบุญเบื้องต้นทำได้โดยการสละทรัพย์สิ่งของของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น ซึ่งจะช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว
            การรักษาศีล เป็นการทำบุญที่เหนือกว่าการให้ทาน เพราะเป็นการฝึกฝนที่จะลด ละ เลิก ความชั่วและการเบียดเบียนกัน ซึ่งจะต้องมีความเพียรพยายามที่จะรักษาทั้งกายและวาจาให้สงบเพื่อที่จะได้ไม่ก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
            การเจริญภาวนา เป็นการทำบุญที่สูงที่สุด เพราะมุ่งไปที่การรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางจนหมดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
            เพราะฉะนั้น นอกจากการทำบุญโดยวิธีการให้ทานที่ชาวพุทธคุ้นเคย และปฏิบัติกันเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สมควรที่จะต้องทำบุญด้วยวิธีการรักษาศีล  และการเจริญภาวนาด้วย  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น และจนถึงการสามารถนำพาตนเองไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด
                ฯลฯ
        (จากหนังสือ ศีล ๕ ทางมาของบุญ พิมพ์แจกเป็นธรรมมาทาน โดยคุณบุศรินทร์ มธุรภัทร์และคณะ)
******

******



วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร


....ฯลฯ....

           ได้มีบางคนเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามองในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์ และสอนสูงเกินกว่าคนทั่วไปจะรับได้ เพราะสอนให้ดับความดิ้นรนทะยานอยากเสียหมด  ซึ่งจะเป็นไปยาก เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าใจดังนี้  ถึงต้องซ้อมความเข้าใจไว้ก่อนที่จะแจกอริยสัจออกไป  พระพุทธศาสนามิได้มองในแง่ร้ายหรือแง่ดีทั้งสองแต่อย่างเดียว แต่มองในแง่ของสัจจะ คือความจริงซึ่งต้องใช้ปัญญาและจิตใจที่บริสุทธิ์ ประกอบกันพิจารณา
            ตามประวัติพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงอริยสัจแก่ใครง่าย ๆ แต่ได้ทรงอบรมด้วยธรรมข้ออื่น จนผู้นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์พอที่จะรับเข้าใจได้แล้ว.... จึงทรงแสดง  อริยสัจธรรม  ......ข้ออื่นที่่ทรงอบรมอยู่เสมอ สำหรับคฤหัสถ์นั้น คือ ทรงพรรณนาทาน พรรณนาศีล พรรณนาผลของทาน ศีล ที่เรียกว่า สวรรค์( หมายถึงความสุขสมบูรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากทาน ศีล แม้ในชีวิตนี้ ) พรรณนาโทษของกาม (สิ่งที่ผูกใจให้รักใคร่ปรารถนา) และ อานิสงส์ คือผลดีของการที่พรากใจออกจากกาม
              เทียบด้วยระดับการศึกษาปัจจุบัน ก็เหมือนอย่างทรงแสดงอริยสัจแก่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย  ส่วนนักเรียนที่ต่ำลงมาก็แสดงธรรมข้ออื่นตามสมควรแก่ระดับ  พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงธรรมที่สูงกว่าระดับของผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่มุ่งศึกษาแสวงหาความรู้ แม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ยังเป็นทางเจริญความรู้ในสัจจะที่ตอบได้ตามเหตุผล และอาจพิจารณาผ่อนลงมาปฏิบัติทั้งที่ยังมีตัณหา  คือความอยากดังกล่าวอยู่นั่นแหละ ทางพิจารณานั้นพึงมีได้ เช่น ที่จะกล่าวเป็นแนวคิดดังนี้...
             ๑. ทุก ๆ คนปรารถนาสุข ไม่ต้องการทุกข์ แต่ทำไมคนเราจึงยังต้องเป็นทุกข์ และไม่สามารถจะแก้ทุกข์ของตนเองได้  บางทียิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้เหตุผลตามเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ อะไรเป็นเหตุของสุข
            ถ้าได้รู้แล้วก็จะแก้ได้ คือละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ทำเหตุที่ให้เกิดสุข อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งก็คือใจของตนเอง เพราะคนเราตามใจตนเองมากไป จึงต้องเกิดเดือดร้อน
              ๒. ที่พูดกันว่าตามใจตนเองนั้น โดยที่แท้ก็คือ ตามใจตัณหา คือความอยากของใจ ในขั้้นโลก ๆ นี้ยังไม่ต้องดับความอยากให้หมด เพราะยังต้องอาศัยความอยากเพื่อสร้างโลกหรือสร้างตนเองให้เจริญต่อไป แต่ก็ต้องมีการควบคุมความอยากให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร และจะต้องรู้จักอิ่ม รู้จักพอในสิ่งที่ควรอิ่มควรพอ ดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ ก็พอครองชีวิตอยู่เป็นสุขในโลก
             ผู้ก่อไฟเผาตนเองและเผาโลกอยู่ทุกกาลสมัยก็คือ ผู้ที่ไม่ควบคุมตัณหาของใจให้อยู่ในขอบเขต ถ้าคนเรามีความอยากจะได้วิชา ก็ตั้งใจพากเพียรเรียน มีความอยากจะได้ทรัพย์  ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดี ตามกำลังตามทางที่สมควร ดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในทางโลก และก็อยู่ในทางธรรมด้วย
             ๓. แต่คนเราต้องการมีการพักผ่อน ร่างกายก็ต้องมีการพัก ต้องให้หลับ ซึ่งเป็นการพักทางร่างกาย จิตใจก็ต้องมีเวลาที่ปล่อยให้ว่าง ถ้าจิตใจยังมุ่งคิดอะไรอยู่ ไม่ปล่อยความคิดนั้นแล้วก็หลับไม่ลง
             ผู้ที่ต้องการมีความสุขสนุกสนาน จากรูป เสียงทั้งหลาย เช่น ชอบฟังดนตรีที่ไพเราะ หากจะถูกเกณฑ์ให้ต้องฟังอยู่นานเกินไป เสียงดนตรีที่ไพเราะที่ดังจ่อหูอยู่นานเกินไปนั้น จะก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง จะต้องการหนีไปให้พ้น ต้องการกลับไปอยู่กับสภาวะที่ปราศจากเสียง คือความสงบ จิตใจของคนเรา ต้องการความสงบดังนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อย นี้คือความสงบใจ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสงบความดิ้นรนทะยานอยากของใจ  เป็นความดับทุกข์นั่นเอง
             ๔. ควรคิดต่อไปว่า ใจที่ไม่สงบนั้น ก็เพราะเกิดความดิ้นรนขึ้น และก็บัญชาให้ทำ พูด คิด ไปตามใจที่ดิ้นรนนั้น เมื่อปฏิบัติตามใจไปแล้วก็อาจสงบลงได้ แต่การปฏิบัติไปแล้วนั้น บางทีชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็ให้เกิดทุกข์โทษอย่างมหันต์ บางทีเป็นมลทินโทษทำให้เสียใจไปช้านาน คนเช่นนี้ควรทราบว่า  ท่านเรียกว่า " ทาสของตัณหา "
            ฉะนั้น จะมีวิธีทำอย่างไรที่จะไม่แพ้ตัณหา หรือจะเป็นนายของตัณหาในใจของตนเองได้ วิธีดังกล่าวนี้คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
....ฯลฯ.....
(จากหนังสือ พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนอะไร พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวรท สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
*******
*******

*******
            



วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

นิพพานเป็นบรมสุขอย่างยิ่ง

...ฯลฯ...
                   ได้มีภาษิตกล่าวไว้ แปลว่า " นิพพานเป็นบรมสุข คือ สุขอย่างยิ่ง "
             นิพพาน คือ ความละตัณหาในทางโลกและทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือการปฏิบัติถึงนิพพาน
             ได้มีผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า...
             " ธรรม " (ตลอดถึง) " นิพพาน " ที่ว่า " เป็นสันทิฏฐิโก อันบุคคลเห็นเอง " นั้นเป็นอย่างไร
             ได้มีพระพุทธดำรัสตอบโดยความว่าอย่างนี้ คือ
              ผู้ที่มีจิตถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเสียแล้ว ย่อมเกิดเจตนาความคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง ทั้งสองฝ่ายบ้าง ต้องได้รับทุกข์โทมนัสแม้ทางใจ เมื่อเกิดเจตนาขึ้น ดังนั้น ก็ทำให้ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ และคนเช่นนั้นก็ย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามความเป็นจริง
            แต่ว่าเมื่อละความชอบ ความชัง ความหลง เสียได้ ไม่มีเจตนาความคิดที่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง ไม่ต้องเป็นทุกข์โทมนัส  แม้ด้วยใจ    " ธรรม "(ตลอดถึง) " นิพพาน " ที่ว่า " เห็นเอง " คือเห็นอย่างนี้
            ตามที่ตรัสอธิบายนี้ เห็นธรรม ก็คือเห็นภาวะหรือสภาพแห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดี ทั้งในทางดี จิตใจเป็นอย่างไร ก็รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง ดังนี้เรียกว่า..เห็นธรรม..
...ฯลฯ...
(จากหนังสือ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร ? สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก)



วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

โอวาทปาติโมกข์


     โลกเราทุกวันนี้ยังมีความเร่าร้อนวุ่นวายสับสน ยังหนีสิ่งชั่วซึ่งมีมาแต่เดิมไปไม่พ้น  การดูถูกดูหมิ่น การอิจฉาริษยา การเบียดเบียน การทรยศหักหลัง การเอาเปรียบ การคดโกงกัน การทะเลาะวิวาท ตลอดจนการรบราฆ่าฟันกัน ยังคงมีอยู่ในหมู่มนุษย์ทั่วไป  ความชั่วทั้งหลายเหล่านี้ ธรรมชาติมิได้ก่อขึ้นเลย  แต่มนุษย์นั่นเองเป็นผู้ก่อ บรรดาศาสดาของลัทธิและศาสนาต่าง ๆ พยายามคิดค้นและวางหลักไว้ สำหรับมนุษย์ปฏิบัติ เพื่อสร้างความสันติสุขให้แก่โลก โดยให้มนุษย์ทำแต่ความดีและให้ละความชั่ว
     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา ก็ทรงกระทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่นอกจากจะทรงสอนให้มนุษย์ ทำแต่ความดี ละความชั่วแล้ว พระองค์ยังทรงสอนให้มนุษย์ชำระจิตให้บริสุทธิ์อีกด้วย ดังปรากฏในคำสอนของพระองค์ที่เรียกว่า " โอวาทปาติโมกข์ "
     สพพฺปาปสฺส อกรณํ   การไม่ทำบาปทั้งปวง
     กุสลลสฺสูปสมฺปทา      การทำกุศลให้ถึงพร้อม
     สจิตฺตปริโยทปนํ         การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว
     เอตํ พุทฺธาน สาสนํ   นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
*****
     พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีปกติเป็นอย่างนี้
             ทำในสิ่งที่ผู้อื่นทำได้ยาก
             อดทนในสิ่งที่ผู้อื่นอดทนได้ยาก
             เอาชนะในสิ่งที่ผู้อื่นเอาชนะได้ยาก
             ท่านจึงได้รับสิ่งที่คนทั้งหลายรับได้ยาก
*****
         โลกียชน ผู้ไม่พ้นโลก
            มุ่งแสวงหาสิ่งที่มี แล้วก็อยู่กับสิ่งที่มี
แต่
โลกุตตรชน ผู้อยู่เหนือโลก
มุ่งแสวงหาสิ่งที่ไม่มี แล้วก็อยู่กับสิ่งที่ไม่มี

*****
     ราหุล เธอจงทำใจให้เหมือนแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอทำใจให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอแล้ว เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี อารมณ์เหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะทำจิตของเธอให้หวั่นไหวได้
       เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ทิ้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ถ่ายอุจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง บ้วนน้ำลายบ้าง เทของสกปรกบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้โกรธ รู้ขัดรู้เคือง แผ่นดินจะอึดอัดระอาและรังเกียจ สิ่งเหล่านั้นก็หามิได้
       ราหุล ถ้าเธอทำใจให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอได้เช่นนี้แล้ว อารมณ์ทั้งหลาย ก็ไม่สามารถครอบงำจิตของเธอได้
*******
(จากหนังสือ ทางสายเอก(ฉบับสมบูรณ์)พระราชพรหมาจารย์(พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร)
*******

*******

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

รสโลก..รสธรรม

....ฯลฯ....
โลกียรส ยิ่งดื่มยิ่งจืด
เหมือนกับกินอ้อยจากโคนไปหาปลาย
แต่..ธรรมรส ยิ่งดื่มยิ่งหวานซึ้ง
เหมือนกินอ้อยจากปลายไปหาโคน
จิตของผู้ใดอิ่มเอิบด้วยรสธรรมแล้ว
ความสุขอย่างโลก ๆ ก็ไร้ความหมาย
รสโลกมีหลายรส
แต่รสธรรมมีรสเดียวคือ "วิมุตติรส "
รสแห่งความหลุดพ้น
.........
สพพฺรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ  ทางสายเอก (ฉบับสมบูรณ์)พระราชพรหมาจารย์(พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโร)วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร (อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่)
*****

******
รสพระธรรม



*********

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

ปัญหา


       ปัญหาของคน ปัญหาในครอบครัว ปัญหาของบ้านเมือง ปัญหาของโลก หรือปัญหาในจิตใจของเราเอง ถ้าดับไม่ถูกที่ถูกจุด ก็ไม่สามารถดับปัญหาได้อย่างแท้จริง ถ้าจะดับให้ได้อย่างแท้จริงนั้นต้องดับที่เหตุ คือ การเกิด ผู้ที่ท่านหมดกิเลสแล้ว ท่านไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ปัญหาก็ไม่เกิดไม่มี ถ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้น ก็ต้องมีปัญหาอยู่อย่างนี้
     ปัญหาบางอย่างก็แก้ได้ ปัญหาบางอย่างก็แก้ไม่ได้ ปัญหาบางอย่างแก้เสร็จไปแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นมาอีก
     คนทุกคนที่เกิดมาล้วนก็ต้องมีปัญหากันทุกคน จะมากบ้างน้อยบ้าง ก็แล้วแต่กรรมวิบากของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาในเรื่องสุขภาพร่างกาย ปัญหาของครอบครัว ปัญหาของสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และทั้งไกล
      ในหลักพระพุทธศาสนา ปัญหาที่ควรแก้มากที่สุด ก็คือปัญหาในเรื่องจิตใจ ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ไม่มีใครทำร้ายเรามากเท่าจิตของเราเอง"
      ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาของใจเราได้ดีแล้ว ถึงอะไรจะมีปัญหาอยู่ แต่ใจเราไม่เป็นปัญหา ถึงร่างกายจะมีความทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ ใจรับรู้ว่าเจ็บไข้ได้ป่วย ใจไม่ดิ้นรน ใจไม่วิตกกังวลให้ฟุ้งซ่าน ใจรู้เห็นตามความจริง แล้วปล่อยวางจิตใจก็สงบเย็นได้
        จงน้อมนำหลักธรรมะ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาชำระความสกปรกของจิตใจเรา จิตที่สกปรกก็เพราะจิตสะสมและคลุกคลีอยู่กับความโลภ ความโกรธ และความหลง กองขยะ ๓ กองใหญ่นี้ จงอยู่ให้ห่างไกลจากมันให้มาก ทรัพย์สมบัตินั้นมีมาก สะสมไว้มากสักเพียงใด ก็แล้วแต่ ก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
********
(จากหนังสือ ปริศนาธรรมจากสวนป่า  อริโยภิกขุ)
********

*********

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

ปรมัตถสภาวธรรม..


...ฯลฯ...
....บัดนี้เป็นที่ยอมรับตรงกันได้แล้วว่า..
     สิ่งควรหลีก คือ ความชั่ว
     สิ่งควรกลัว  คือ  ความผิดพลาด
     สิ่งอุบาทว์  คือ ความขัดแย้ง
     สิ่งร้ายแรง  คือ  ความเมา
    และ  สิ่งที่ทำให้เบา  คือ ความปล่อยวาง
             สิ่งเป็นแสงสว่าง คือ ดวงปัญญา
             สิ่งที่ควรปรารถนา คือ นิรามิสสุข
             สิ่งหมดทุกข์ คือ การทำกิเลสดับ
             สิ่งลึกลับ คือ ตัวอวิชชา
   ปรมัตถธรรม ในพระพุทธศาสนา จะช่วยแก้ปวงปัญหาอันเนื่องจากสิ่งเหล่านี้
   ปรมัตถธรรม ในสายตาชาวโลก แม้ภายนอกจะดูงุ่มง่ามไม่โลดโผน แต่ก็จะยิ่งป็น"ไออุ่น" ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตในโลกอย่างยิ่ง โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเอง  ถ้าปราศจากธรรมะแล้ว คนเราก็คือ "ทรากศพ" ที่ตัวแข็งเย็นชืด แม้เขาจะเป็นอยู่อย่างโลดโผนทะโมนไพร น่าเลื่อมใสในสายตาแห่งคนที่ไร้ธรรมะด้วยกัน
     ธรรมะเท่านั้น ที่จะหล่อหลอมคนธรรมดาสามัญให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 
     ปราศจากธรรมะแล้ว คนก็เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่ง เหมือนสัตว์ทั้งหลายทั่วไป หาใช่มนุษย์ไม่
     ขอให้ธรรมะที่เป็นนารถกรณธรรม ในลักษณะเช่นนี้ จงแพร่หลายกว้างขวางคุ้มครองโลกอย่างทั่วถึงทุกวิถีทาง ในกาลทุกเมื่อเถิด
...ฯลฯ...
(คำอนุโทนา ของท่านพุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ ปรมัตถสภาวธรรม รวมคำบรรยายธรรม ประจำวันเสาร์ ปี ๒๕๑๖ ในสวนโมกขพลาราม ไชยา ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ)
........

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

หลวงปู่...เมตตาแม่ค้าหน่อไม้


ภาพจากอินเตอร์เนต

....ฯลฯ....

      นอกจากร้านขายดอกไม้ให้ผู้คนที่มาถึงถ้ำผาปล่องได้ซื้อขึ้นไปบูชาพระแล้ว  บางครั้งมีชาวบ้านนำหาบสินค้ากระจุกกระจิกมาวางขายที่เชิงบันไดขึ้นถ้ำด้วยครั้งละเจ้าสองเจ้า  ครั้งหนึ่งมีแม่ค้าหาบหน่อไม้มาวางขายอยู่หลายวัน แกเล่าว่าทุกครั้งที่เห็นหลวงปู่ลงจากถ้ำเพื่อไปกิจนิมนต์ข้างนอก แกก็ได้แต่กราบไม่เคยพูดกับหลวงปู่เลย มีอยู่ครั้งหนึ่งแกคิดในใจว่า
      " คนมาหาหลวงปู่คงมีแต่คนรวย ๆ คนจนอย่างเราท่านจะเมตตาไหมหนอ ? "
      แล้ววันหนึ่งแม่ค้าหน่อไม้ก็ได้กราบหลวงปู่อย่างใกล้ชิดและได้พูดกับหลวงปู่เป็นครั้งแรก เมื่อท่านมาหยุดยืนที่หาบของแกพร้อมกับพูดว่า
       " หน่อไม้หมดหาบนี่ หลวงปู่ซื้อ "
    ก่อนจากไปหลวงปู่ยังสั่งให้แกหาโอกาสขึ้นไปกราบพระบนถ้ำด้วย แม่ค้าได้รับเมตตาจากหลวงปู่เป็นเงิน ๑๐๐ บาท เป็นค่าหน่อไม้ไม่กี่หน่อในหาบนั้นและอีกครั้งหนึ่งในโอกาสต่อมา แกก็เก็บเหรียญของหลวงปู่ได้ที่ลานซีเมนต์เชิงบันใด  ทำให้โยมที่ลงไปกวาดทำความสะอาดบริเวณนั้นจนโล่งเตียนแปลกใจเป็นอันมากว่า  เหรียญมาได้อย่างไรโดยคนกวาดมองไม่เห็นเลย...
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ ละอองธรรม พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) วัดถ้ำผาปล่อง)

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

..ตายทั้งเป็น..


...ฯลฯ...
การตายทั้งเป็นนั้น..น่าหวาดกลัวยิ่งนัก

        ใจที่มีความคิดอาบยาพิษร้าย เป็นใจที่ทำให้ตายได้ทั้งเป็น  อันการตายทั้งเป็นนั้น น่าหวาดกลัวยิ่งกว่ามากมายนัก
        ผู้ที่ตายทั้งเป็น คือ ผู้เป็นคนเลวในสายตายของคนดี เป็นที่รังเกียจของสังคมคนดี ไปสู่ที่ใดจักไม่มีความหมาย เหมือนเป็นคนว่างเปล่า ปราศจากการต้อนรับ ที่ท่านเปรียบว่าตายทั้งเป็นก็เช่นนี้ด้วย คือไม่อยู่ในสายตาในความสนใจของผู้ใด เห็นก็เหมือนไม่เห็น จึงเป็นเหมือนวิญญาณที่ไม่มีร่าง ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่ตายทั้งเป็นคือผู้ที่เป็นดั่งซากศพที่เน่าเหม็น เป็นที่ยินดีพอใจเข้าห้อมล้อมหนาแน่นของเหล่าแมลงวันหรือหนอนน้อยใหญ่เท่านั้น
        นั่นก็คือ คนตายทั้งเป็นด้วยกัน หรือคนไม่ดีด้วยกันเท่านั้นที่จะยินดีต้อนรับพวกเดียวกัน..." คนดีจักไม่รังเกียจคนไม่ดี..ไม่มีเลย.."
,,,ฯลฯ...
(พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก    อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม)
******
ผู้เข้ากันได้โดยธาตุ (คลิก)
******
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร (คลิก)
******