วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558

ชีวิตนี้น้อยนัก...(๑)




"...ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนักเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยกจะไปสูงจะไปต่ำ จะไปดี ไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด.."
.........
(จากหนังสือ ชีวิตนี้น้อยนัก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก )
*****
ชีวิตนี้น้อยนัก...(๒) (คลิก)

สิ่งนอกใจ...



...ความรู้สึก ความจำ ความคิด...
...เป็นสิ่งภายนอก  มันเกิดทื่..ใจ.. แต่ไม่ใช่ ..ใจ..
...ความรู้สึก ความจำ ความคิด..
...เกิดจาก..การรับรู้.... ดังนั้น จึงจำเป็นตัอง..
...*อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี..*
...*คบแต่คนดีๆ..*
...*ฟังแต่ธรรมดีๆ..*
...*หมั่นนำมาใส่ใจ..*
.........
(จากหนังสือ ธรรมะจากใจ พระอาจารย์ ภิกษุณี รุังเดือน นันทญาณี (สุวรรณ) )

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

จับกับวาง..



.......
" ผู้ใดหลงไหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้  แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศ้ยตำราและอาจารย์เหมือนกัน "
.........
(จากหนังสือ หลวงปู่ฝากไว้  ของ  พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล) )

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

ทรัพย์ของคนดี


....ฯลฯ..
    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้นไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีอันตั้งอยู่ในที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิทเย็นดี มีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่ม อาบหรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นมีอยู่อย่างไร้ประโยชน์  ทรัพย์ของคนตระหนี่นั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆเลย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย ส่วนคนดีเมื่อมีทรัพย์แล้วย่อมบำรุงบิดามารดา บุตรภรรยาบ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณะพราหมจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเหมือนสระโบกขรณี อันอยู่ๆไม่ไกลจากบ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็น น่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัย นำไปอาบดื่ม แลใช้สอยตามต้องการ โภคทรัพย์ขอคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาอยู่โดยเปล่าประโยชน์ไม่ "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน 9 กุมภาพันธ์ 2550 )

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

ทาน


....ฯลฯ....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ  ที่นำออกไปไม่ได้ก็ถูกไฟไหม้วอดวาย ณ ที่นั้นนั่นเอง ฉันใดคนในโลกนี้ถูกไฟ คือความแก่ ความตายไหม้อยู่ก็ฉันนั้น คนฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้วชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติแม้สรีระของตนไว้ นำไปใช้ไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าสู่ฐานะอันประเสริฐ"
,,,,ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน  ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

บุญ


....ฯลฯ....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทองหรือของที่บุคคลหวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้และที่อยู่อาศัย สิ่งอื่น ๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด  แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว  เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณธรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ บุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า "
....ฯลฯ....
(จากหน้งสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558

บัณฑิต..ไม่ทิ้งธรรม


....ฯลฯ....
    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ทั้งหลายผู้ยังมีอวิชชาเป็นฝ้าบังปัญญาจักษุนั้น เป็นเสมือนทารกน้อยผู้หลงเข้าไปในป่าใหญ่อันรกทึบซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายน่าหวาดเสียวและว้าเหว่เงียบเหงา มนุษย์ส่วนใหญ่แม้จะร่าเริงแจ่มใสอยู่ในหมู่ญาติและเพื่อนฝูง แต่ใครเล่าจะทราบว่า ภายในส่วนลึกแห่งหัวใจ เขาจะว้าเหว่เงียบเหงาสักปานใด ถ้าทุกคนว้าเหว่ไม่แน่ใจว่า จะยึดเอาอะไรเป็นหลักที่แน่นอนของชีวิต"
    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในเพศใดภาวะใด การกระทำที่นึกขึ้นภายหลังแล้วต้องเสียใจนั้นควรเว้นเสีย เพราะฉะนั้น แม้จะประสบความทุกข์ยากลำบากสักปานใดก็ต้องไม่ทิ้งธรรม มนุษย์ยังมีอาสวะอยู่ในใจนั้นย่อมจะมีวันพลั้งเผลอประพฤติผิดธรรมไปบ้างเพราะยังมีสติไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อได้สติภายหลังแล้วก็ต้องตั้งใจประพฤติธรรมสั่งสมความดีกันใหม่ ยิ่งพวกเรานักบวชด้วยแล้วจำเป็นต้องมีอุดมคติ การตายด้วยอุดมคตินั้นมีค่ากว่าการเป็นอยู่โดยไร้อุดมคติ"
    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมดาว่าไม้จันทร์ แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สงครามก็ไม่ทิ้งลีลา อ้อยแม้เข้าสู่หีบยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน  บัณฑิตแม้ประสบทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม"
....ฯลฯ....
(จากหนังสือโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****



วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

มรณานุสสติ


....ฯลฯ....

******
     " อานันทะ  ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง ? "  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวกับพระอานนท์
   " ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายประมาณวันละ ๗ ครั้ง พระเจ้าข้า " พระอานนท์ทูลตอบ
   " อานันทะ ดูก่อน อานนท์ มันยังไกลเกินไป  สำหรับตถาคตนี้นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก "
******
     มรณานุสสติกรรมฐานนี้เป็นกรรมฐานสำหรับบุคคลที่มีจริตเป็น พุทธจริต คือ เป็นบุคคลฉลาด บุคคลที่มีความฉลาดแล้วย่อมไม่กลัวความตาย รู้จักสภาวะปกติของขันธ์ ๕ คือร่างกาย ว่ามันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น  มีความแปรปรวนในท่ามกลาง และก็ตายในที่สุด
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า คนที่นึกถึงความตายเป็นปกติ เป็นคนดีไม่มีความประมาท...เมื่อเรารู้ว่าจะตายสภาวะความตายไม่ใช่สภาวะสูญ  ถ้าเรายังไม่หมดกิเลส...ความเกิดก็ปรากฏ...เมื่อตายแล้วก็เกิด ไม่ไช่หมายความว่าจะเกิดเป็นคนเสมอไป...
     ถ้าทำกรรมชั่วไว้จิตใจสั่งสมอยู่ในอารมณ์ชั่วก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง นี่เป็นปัจจัยของความชั่วที่เราเรียกว่า บาป...
      คนที่มีความดีมีศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ บริสุทธิ์ก็เกิดเป็นมนุษย์ได้ แล้วก็เกิดเป็นมนุษย์ชั้นดี หากมีการภาวนาอยู่บ้าง มีศีลมีทานเป็นปกติ เกิดเป็นเทวดาก็ได้ ถ้ามีกำลังใจเป็นฌาณสมาบัติทรงความดีไว้เป็นปกติ ทรงอยู่แต่เฉพาะในอารมณ์ที่เป็นกุศล เวลาจะตายจิตก็ทรงอยู่ตามนั้น อย่างนี้ตายแล้วเกิดเป็นพรหม ถ้าตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน(การละกิเลสได้เด็ดขาดอย่างพระอรหันต์)ได้ เราก็ไปนิพพาน...
      การแสวงหาความดีไว้เป็นปกติ จะเอาความดีกันทางไหนล่ะ  เรารู้ตัวอยู่ว่าเราจะตาย เราก็เลือกทางเอา ถ้าเราต้องการเกิดเป็นมนุษย์ ก็พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ พยายามรักษากรรมบถ ๑๐ ให้บริสุทธิ์ เราพยายามคุมอารมณ์ศีลให้เป็นปกติ อย่างนี้ตายแล้วเป็นมนุษย์ได้สบาย ๆ แล้วก็เป็นมุษย์ชั้นดี ตามพระบาลีว่า  สีเลนะ สุคติง ยันติ เวลาตายแล้วคนมีศีลจะไปสู่สุคติ มีความสุขสมบูรณ์ สีเลนะ โภคสัมปทา เราจะมีโภคทรัพย์  มากมาย  สีเลนะ นิพพุติง ยันดิ ย่อมเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานได้โดยง่าย.....
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ มรณานุสสติ  โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน)

ตั้งมั่นให้ได้



       "..จิตไม่สงบก็เพียรพยาม ทำจิตของตนให้มีความสงบตั้งมั่นลงไปให้ได้ เมื่อเราคิดว่าทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระสัมมาพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่มาตรัสรู้แล้วในโลกนีั ทำไมท่านทำได้ปฏิบัคิได้ ท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา เราก็เป็นมนุษย์เหมือนท่าน  แล้วมันขาดตกบกพร่องตรงไหนจึงทำไม่ได้ อันนี้มันก็รู้อยู่ที่จิตใจของเรานี้เอง เมื่อใจของเราไม่ตั้ง  ใจของเราไม่ภาวนา จิตใจมันก็อ่อนแอท้อแท้กลัวไปหมดทุกอย่างทุกประการ  เพราะว่าในใจของเรา กิเลสมาร สังขารมาร มันโกหกพกลม หลอกลวง ให้เราลุ่มหลงมัวเมาติดข้องอยู่ในโลก ถ้าเราไม่ปฏิบัติภาวนาแล้วเรามองไม่เห็น คือสิ่งใดในโลก จิตนี้มันก็กำหนดไม่ได้ พิจารณาไม่ได้ ก็มีแต่ความอยาก ความดิ้นรนในจิตไม่สงบเสียก่อน มันก็ยากที่จะเป็นไปได้.."
........
( จากหนังสือ สุข สงบ เยือกเย็น  ๑๐๔ ปีชาตกาล หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร  สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่)

*******

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

อาลัยเพื่อนผู้จากไป...สุทธิ์ศักดิ์ สุขพงษ์


กำหนดสวดพระอภิธรรม
ตั้งแต่ ๑๙ เมษายน ถึง ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๙๐๐
ณ วัดเกียรติประดิษฐ์ ซอยสุขสวัสดิ์ ๑๑ ถนนสุขสวัสดิ์
แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพ ฯ
และกำหนดณาปนกิจศพ
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๗๐๐
(ขอเชิญ นรจ.รุ่น ๐๙ ร่วมเป็นเจ้าภาพ
สวดพระอภิธรรม ในวันพุธที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๘)
******
...สุทธิศักดิ์ (ติ๋ง)... กับเพื่อน ๆ นรจ.๐๙...





******








ขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนสู่สุคติภพเทอญ...

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

ความพลัดพราก....


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยสิ่งที่น่าละอาย ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากและสับสน และจบลงด้วยเรื่องเศร้า  อนึ่ง ชีวิตเริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่น เป็นสัญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้น ทุกคนแบมือออก เหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่า เขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจนั้น เป็นเรื่องทรมานยิ่ง และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพราก ก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง "
....ฯลฯ....
*****
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน  ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ )
*****

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

ผู้พิชิต..


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่ม มีเกศายังดำสนิท ถูกแวดล้อมด้วยสตรีล้วนแต่สะคราญตา เป็นที่น่าปรารถนาของบุรุษเพศผู้ยังตัดอาลัยในบ่วงกามมิได้     แต่เราเบื่อหน่ายในโลกียวิสัยจึงสละสมบัติบรมจักรและนางผู้จำเริญตา  ออกแสวงหาโมกธรรมแต่เดียวดาย  เที่ยวอย่างไม่มีอาลัยปลอดโปร่งเหมือนบุคคลที่เป็นหนี้แล้วพ้นจากหนี้    เคยถูกคุมขังแล้วพ้นจากที่คุมขัง เคยเป็นโรคแล้วหายจากโรค หลังจากท่องเที่ยวอยู่เดียวดายและทำความเพียรอย่างเข้มงวดไม่มีใครจะทำได้ยิ่งกว่าอยู่เป็นเวลาหกปี เราก็ได้ประสบชัยชนะอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาโพธิญาณสงบเยือกเย็นถึงที่สุด  ล่วงพ้นแห่งบ่วงมารทั้งปวงทั้งที่เป็นทิพย์และเป็นของมนุษย์ มารและธิดามารคือ  นางตัณหา นางราคะ และนางอรดี  ที่พยายามยั่วยวนเราด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เราตกอยู่ในอำนาจ แต่เราก็หาสนใจใยดีไม่ ในที่สุดพวกนางก็ถอยหนีไปเอง เราชนะมารอย่างเด็ดขาด จนมีนามก้องโลกว่า " ผู้พิชิตมาร "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาง  ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****


******

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

พร ๕...


      พร  หมายถึง  สิ่งน่าปรารถนา,สิ่งประเสริฐ,สิ่งดีเยี่ยม ที่บุคคลหนึ่งอำนวยให้หรือแสดงความประสงค์ด้วยความปรารถนาดีให้เกิดมีแก่บุคคลอื่น
      พรที่รู้จักกันมากได้แก่ ชุดที่มีจำนวน ๔ ข้อ ซึ่งเรียกกันว่า จตุรพิธพร หรือ พร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
      พรที่เป็นชุดมีจำนวน ๕ ข้อบ้าง ๖ ข้อบ้าง ก็มี  เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ; อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขะ พละ;อายุ วรรณะ สุขะ ยศ เกียรติ สัคคะคือสวรรค์ พร้อมทั้ง อุจจากุลีนตา คือ ความมีตระกูลสูง; อายุ วรรณะ ยศ สุข อาธิปัจจะ คือความเป็นใหญ่ และชุดที่จะกล่าวต่อไปคือ อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ
      อย่างไรก็ดี พึงทราบว่า คำว่า พร ในที่นี้ เป็นการใช้โดยอนุโลมตามความหมายในภาษาไทยซึ่งเพี้ยนไปจากความหมายเดิมในภาษาบาลี ในภาษาบาลีแต่เดิม พร หมายถึง ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาตหรืออำนวยให้ตามที่ขอ พรที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ทั้งหมด ในบาลีไม่ได้เรียกว่า พร แต่เรียกว่า ฐานะ หรือ ธรรม ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ(ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรรมคือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ)
     สำหรับพระภิกษุ พรหรือธรรมอันน่าปรารถนาเหล่านี้ หมายถึงคุณธรรมต่าง ๆ ควรปลูกฝัง ฝึกอบรมให้เกิดมี ดังพุทธพจน์ว่า: ภิกษุท่องเที่ยวอยู่ ภายในถิ่นท่องเที่ยวที่เป็นแดนของตนอันสืบทอดมาแต่บิดา(คือสติปัฎฐาน ๔) จักเจริญด้วย
     ๑.อายุ คือ พลังหล่อเลี้ยงทรงชีวิตให้สืบต่ออยู่ได้ยาวนาน ได้แก่ อิทธิบาท ๔
     ๒.วรรณะ คือ ความเอิบอิ่มผ่องใสน่าเจริญตาเจริญใจ ได้แก่ ศีล
     ๓.สุขะ คือ ความสุข ได้แก่ ฌาน ๔
     ๔.โภคะ คือ ความพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและอุปกรณ์ต่าง ๆ อันอำนวยความสุขความสะดวกสบาย ได้แก่ อัปปมัญญาหรือ พรหมวิหาร ๔ 
    ๕.พละ คือ กำลังแรงความเข้มแข็งที่ทำให้ข่มขจัดได้แม้แต่กำลังแห่งมาร ทำให้สามารถดำรงชีวิตที่ดีงามปลอดโปร่งเป็นสุข บำเพ็ญกิจด้วยบริสุทธิ์และเต็มที่ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์ใด ๆ จะสามารถบีบคั้นครอบงำ ได้แก่ วิมุตติ ความหลุดพ้น หมดสิ้นอาสวะ หรืออรหัตตผล
.........
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ.ปยุตฺโต)
*****

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

จิต...


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯ ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมัน  ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเอาสติเป็นขอสำหรับเหนี่ยวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจ  บุคคลผู้มีอำนาจมากที่สุดและควรแก่การสรรเสริญนั้น คือผู้ที่สามารถเอาตนของตนเองไว้ในอำนาจได้ สามารถชนะตนเองได้  ผู้ชนะตนเองได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอทั้งหลายจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิด อย่าเป็นผู้แพ้เลย "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม คือ นินทา สรรเสริญนั้น เป็นจิตใจที่ประเสริฐยิ่ง ภิกษุทั้งหลาย ! ในหมู่มนุษย์นี้ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ม้าอัศดร ม้าสินธพ พญาช้างตระกูลมหานาคที่ได้รับการฝึกดีแล้ว จัดเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่บุุคคลที่ฝึกตนดีแล้วยังประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด  ผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภมียศอยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถปิดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิเป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย ! เมตตากรุณาเป็นพรอันประเสริฐในตัวมนุษย์ "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป้นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****


*****

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

ความดับทุกข์..


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย !  ปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าของทุก ๆ คน คือ ปัญหาเรื่องทุกข์และความดับทุกข์   มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถูกความทุกข์เสียบอยู่ทั้งทางกายและทางใจ อุปมาเหมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรซึ่งกำซาบด้วยยาพิษแล้วญาติมิตรเห็นเข้าเกิดความกรุณา จึงพยายามช่วยถอนลูกศรนั้น  แต่บุรุษผู้โง่เขลาบอกว่าต้องไปสืบให้ให้ได้เสียก่อนว่าใครเป็นคนยิงและยิงมาจากทิศใหน ลูกศรทำด้วยไม้อะไร แล้วจึงค่อยมาถอนลูกศรออก  ภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษนั้นจะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่แท้ ความจริงเมื่อถูกยิงแล้วหน้าที่ของเขาก็คือควรพยายามถอนลูกศรออกเสียทันที  ชำระแผลให้สะอาดแล้วใส่ยาและรักษาแผลให้หายสนิท หรืออุปมาหนึ่งเหมือนบุคคลที่ไฟไหม้อยู่บนศรีษะ ควรรีบดับเสียโดยพลันไม่ควรเที่ยววิ่งหาคนผู้เอาไฟมาเผาศรีษะตน ทั้ง ๆ ที่ไฟลุกไหม้อยู่ "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! สังสารวัฏฏ์นี้เต็มไปด้วยเพลิงทุกข์นานาประการโหมให้ร้อนอยู่โดยทั่ว  สัตว์ทั้งหลายยังวิ่งอยู่ในกองทุกข์แห่งสังสารวัฏฏ์ ใครเล่าจะเป็นผู้ดับ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดับทุกข์แห่งตน อุปมาเหมือนบุรุษสตรีผู้รวมกันอยู่ในบริเวณกว้างแห่งหนึ่ง และต่างคนต่างถือดุ้นไฟใหญ่อันไฟลุกโพลงอยู่ทั่วแล้ว ต่างคนก็ต่างวิ่งวนกันอยู่ในบริเวณนั้น และร้องกันว่า ร้อน ร้อน  ภิกษุทั้งหลาย ! ครานั้นมีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาดร้องบอกให้ทุก ๆ คน ทิ้งดุ้นไฟในมือตนเสีย ผู้ที่ยอมเชื่อทิ้งดุ้นไฟก็ได้ประสบความเย็น ส่วนผู้ไม่เชื่อ ก็ยังคงวิ่งถือดุ้นไฟพร้อมร้องตะโกนว่า ร้อน ร้อน อยู่นั่นเอง  ภิกษุทั้งหลาย ! เราตถาคตได้ทิ้งดุ้นไฟแล้ว และร้องบอกให้เธอทั้งหลายทิ้งเสียด้วย .......ดุ้นไฟที่กล่าวถึงนี้คือ  กิเลส ทั้งมวล อันเป็นสิ่งที่เผาลนสัตว์ให้เร่าร้อน กระวนกระวาย "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****
วิมุตตายตนสูตร  (คลิก)

*****

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

ทุกข์..


....ฯลฯ....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย  !  ความทุกข์เป็นความจริงประการหนึ่งที่ชีวิตทุกชีวิตต้องประสบไม่มากก็น้อย  ความทุกข์ที่กล่าวนี้มีอะไรบ้าง ?  ภิกษุทั้งหลาย ! ความเกิดเป็นความทุข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เป็นทุกข์ ความแห้งใจหรือความโศก ความพิไรรำพันจนน้ำตานองหน้า ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่ไม่พอใจ ปรารถนาอะไรมิได้ดังใจหมาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทุกข์ ที่บุคคลต้องประสบทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยสรุป การยึดมั่นในขันธ์ห้าด้วยตัณหาอุปาทานนั่นเอง เป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่"
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า ความทุกข์ทั้งมวลย่อมสืบเนื่องมาจากเหตุ ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์นั้น เรากล่าวว่าตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากดิ้นรนซึ่งมีลักษณะเป็นสาม คือ ดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา เรียกกามตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากเป็นนั่นเป็นนี่  เรียกภวตัณหาอย่างหนึ่ง ดิ้นรนอยากผลักสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นแล้ว เรียกว่าวิภวตัณหาอย่างหนึ่ง นี่แลคือสาเหตุแห่งความทุกข์ขั้นมูลฐาน  ภิกษุทั้งหลาย ! การสลัดทิ้งโดยไม่เหลือซึ่งตัณหาประเภทต่าง ๆ ดับตัณหา คลายตัณหาโดยสิ้นเชิง นั่นแลเราเรียกว่า นิโรธ คือความดับทุกข์ได้ "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

พระสารีบุตร..


..พระสารีบุตรโปรดมารดาแล้วปรินิพพาน..
....ฯลฯ....
     " ข้าแต่พระมหามุนีโลกนาถเจ้า บัดนี้ข้าพระองค์ตัดสิ้นแล้ว ไม่มีการไปการมา นี่เป็นการถวายบังคมลาครั้งสุดท้าย ชีวิตของข้าพระองค์น้อย  ต่อไปนี้ล่วงไป ๗ วัน ข้าพระองค์จะทอดทิ้งเรือนร่างเหมือนวางภาชนะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอนุญาต  ขอพระสุคตโปรดอนุญาตแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด นี่เป็นเวลาปรินิพพาน ข้าพระองค์ปลงอายุสังขารแล้ว พระเจ้าข้า " 
....ฯลฯ....
      เมื่อพระสารีบุตรลาพระพุทธเจ้าแล้ว ก็พาสาวกทั้งหมด ลูกศิษย์ท่าน ๕๐๐ องค์ไป พอไปถึงบ้านก็ถามแม่ว่า " แม่ เมื่อฉันเกิดน่ะ เกิดห้องไหน  คลอดห้องไหน " 
      แม่ก็บอก " เอ้อ..อุปติสสะ " ท่านไม่เรียกพระสารีบุตรหรอก นี้เจ้าเกิดห้องนี้ แม่ออกเจ้าห้องนี้ แกถือว่าเป็นแม่ แกไม่นับถือพระพุทธศาสนานี่ แต่วันนั้นก็รู้สึกว่าดีใจ ที่ลูกเป็นอรหันต์ ๗ คน(พระสารีบุตรมีน้องชาย  ๓ คน ชื่อ จุนทะ  อุปเสนะ และเรวตะ  น้องหญิง ๓ คน คือ จาลา  อุปจาลา และสีสุปจารา  ทั้ง ๖ คนบวชในพระธรรมวินัย)ไปหมดบ้าน ดีอกดีใจว่าลูกไปพร้อมหน้าพร้อมตากัน และก็มีอรหันต์ติดตามอีก ๕๐๐ องค์
      พอถึงเวลากลางคืน พระสารีบุตรก็เข้าไปในห้องนั้น ก็บอกกับแม่ว่าจะนอนห้องนี้ ท่านแม่ก็จัดให้
      ทีนี้น้องชายท่านชื่อ ท่านจุนทะ ก็นั่งหน้าประตู เป็นพระยาม เขาเป็นมหาเศรษฐีที่บ้านนั้นน่ะ พระ ๕๐๐ องค์พักสบาย
      พอยามต้นนี้ เทวดาชั้นจาตุมหาราช ก็มาไหว้พระสารีบุตร เวลาลงจากฟ้าเห็นแสงสว่างสวย ท่านเข้าไปในห้องแสงสว่างก็สว่างมาก ยิ่งกว่าตะเกียงมาก
      ท่านแม่นั่งอยู่หน้าประตู ชะโงกเข้าไปดู เห็นท่านท้าวมหาราชกำลังไหว้พระสารีบุตร ก็ถามท่านจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร
      " จุนทะ ใครมาหาพี่เจ้า...? "
      "  ท่านท้าวจาตุมหาราช " ท่านจุนทะบอกแม่
      แกก็สงสัยถามว่า พี่เจ้าโตกว่าท่านท้าวจาตุมหาราช อีกหรือ  ท่านมองไปน่ะ เห็นกำลังไหว้ ท่านจุนทะก็บอก พี่โตกว่า และพระที่มาทุกองค์น่ะ โตกว่าจาตุมหาราชทั้งนั้นแหละ แกก็แปลกใจเพราะพระพวกที่ไปนี่เป็นอรหันต์ทั้งหมด
     พอใกล้ยามสอง ท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่กลับ  ที่นี้ชั้นดาวดึงส์มา  มีพระอินทร์นำขบวน ก็สว่างกว่า ใหญ่กว่า แล้วแสงสว่างก็สว่างมากกว่าจาตุมหาราช  แสงสว่างก็พุ่งออกมาหน้าประตูแกก็สงสัย ชะโงกเข้าไปดูอีก เห็นพระอินทร์กำลังไหว้พระสารีบุตร จึงถามท่านจุนทะว่า  " จุนทะใครมาหาพี่เจ้า..? "
       " พระอินทร์ " ท่านจุนทะบอกแม่
       แกก็ถามเลยว่า  ทำไมพี่เจ้า โตกว่าพระอินทร์อีกรึ...(ชักสงสัยแล้วซิ พราหมณ์เขาถือว่าพระอินทร์นี่เก่งอยู่แล้วนะ)
       " โตกว่า " ท่านจุนทะบอกแม่
      พอถึงยามสาม พรหมลงมา พราหมณ์เขาถือว่าพรหมน่ะสูงสุด  พรหมลงมาแสงสว่างไสว ก็สว่างมากกว่าดาวดึงส์ แกก็ชะโงกหน้าไปดู เห็นพรหมเข้ามาไหว้  ก็ถามท่านจุนทะว่า " ใครมาหาพี่เจ้าล่ะ .?"
        " พรหม " ท่านจุนทะบอกแม่
       แกถามว่า เอ๊ะ...พี่เจ้านี่โตกว่าพรหมรึ พรหมจึงมาไหว้ ท่านจุนทะบอกว่า โตกว่า.. พระทุกองค์ในพระพุทธศาสนาที่เป็นอรหันต์แล้ว โตกว่าพรหมทั้งนั้นแหละ ที่มาทั้งหมดนี่น่ะ โตกว่าพรหม..
        แกก็แปลกใจ  ก็พราหมณ์เขาถือว่าพรหมสูง
        พอพรหมกลับ พระสารีบุตรก็เรียกเข้าแม่เข้าไปในห้องเทศน์โปรด ความเลื่อมใสเกิดขึ้นแล้ว เห็นว่า..ลูกนี่โตกว่าพรหม ก็พราหมณ์ถือว่าพรหมสูงสุด นี่ลูกสูงกว่าพรหมอีก ..ศรัทธาเกิด..เห็นท่านจาตุมหาราชก็มาไหว้..พระอินทร์ก็มาไหว้..พรหมก็มาไหว้...พอเทศน์จบแม่ก็ได้พระโสดาบัน...
....ฯลฯ...
(จากหนังสืออสีติมหาเถระสาวก ๘๐ พระอรหันต์ ของ สถาบันบันลือธรรม และหนังสือธรรมปฏิบัติ ฉบับที่ ๑๓ หนังสือรวบรวมธรรมเทศนาของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี)
*****





วัฏฏ์สงสาร


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นอีกแน่ ๆ  ภิกษุทั้งหลาย ! น้ำตาของสัตว์ทั้งหลายที่ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถมในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏ์สงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีเล่า ถ้านำมากองรวมกันมิให้กระจัดกระจาย คงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลย แม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ที่ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำบนกองกระดูกนอนอยู่บนกองกระดูก นั่งอยู่บนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่ว่าภพไหน ๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งสิ้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ฉะนั้น "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
*****

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2558

..สังสารวัฏฏ์..



....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! กลิ่นดอกไม้กลิ่นจันทร์ไม่สามารถหอมหวนทวนลมได้ แต่กลิ่นแห่งเกียรติคุณความดีงามของสัตบุรุษนั้นแลสามารถจะหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลม คนดีย่อมมีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปได้ทั่วทุกทิศ กลิ่นจันทร์แดง กลิ่นอุบล กลิ่นดอกมะลิ จัดว่าเป็นดอกไม้กลิ่นหอม แต่ยังสู้กลิ่นศีลไม่ได้ กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งมวล ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหวังจะให้เป็นที่รักที่เคารพนับถือ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีแล้ว พึงเป็นผู้ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยศีลเถิด "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับเลย ย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว ย่อมรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางยืดยาว แต่สังสารวัฏฏ์คือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! สังสารวัฏฏ์นี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ที่พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อย ๆ และการเกิดใดนั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและความตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจและความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคที่เทียมเกวียนแล้ว จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกแห่ง สัตว์โลกเมื่อเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออกจากความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน  ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ...


,,,,ฯลฯ....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดี ย่อมก่อทุกข์ให้มากหลาย การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง "
    " ภิกษุทั้งหลาย ! เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใด ๆ เราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำคือบุตร ภรรยา ทรัพย์สมบัตินี่แล  ตรึงรัดมัดผูกสัตว์ทั้งหลายให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อน ๆ แต่แก้ได้ยากคือ บุตร ภรรยา และทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะนั้นเป็นเหยื่อของโลก เมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ไม่มีรูปใดที่จะรัดตริงใจของบุรุษได้มากเท่ารูปแห่งสตรี "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ยังตัดอาลัยในสตรีไม่ได้ ย่อมต้องเวียนเกิด เวียนตายอยู่ร่ำไปแม้สตรีก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังตัดอาลัยในบุรุษไม่ได้ ย่อมประสบทุกข์บ่อย ๆ กิเลสนั้นมีอำนาจควบคุมอยู่โดยทั่วไม่เลือกว่าในวัยใด และเพศใด "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! มนุษย์ผู้หลงไหลอยู่ในโลกียารมณ์ ผู้เพลินอยู่ในความบันเทิงสุขอันสืบเนื่องมาจากความึนเมาในทรัพย์สมบัติชาติตระกูล ความหรูหราฟุ่มเฟือย ยศศักดิ์และเกียรติอันจมปลอมในสังคม ที่อยู่อาศัยอันสวยงาม อาหารและสื้อผ้าอาภรณ์ที่ต้องใส่ อำนาจและความทะนงตน ทั้งหมดนี้ทำให้บุคคลมีนัยน์ตาฝ้าฟาง มองไม่เห็นความงามของพระสัทธรรม ความเมาในอำนาจเป็นแรงผลักดันที่มีพลังมากพอให้คนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีอำนาจยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น พร้อม ๆ กันนั้นมันทำให้เขา ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แยแสต่อเสียงเรียกร้องของศีลธรรมและมโนธรรมใด ๆ  มันค่อย ๆ ระบายจิตใจของเขาให้ดำมืดไปทีละน้อย ๆ จนเป็นสีหมึก ไม่อาจมองเห็นอะไร ๆ ได้อีกเลย หัวใจที่เร่าร้อนอยู่แล้วของเขา ถูกเร่งเร้าให้เร่าร้อนมากขึ้นด้วยความทะยานอยากอันไม่มีขอบเขต ไม่ทราบว่าจะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน วัตถุอันวิจิตรตระการตานั้นช่วยเป็นเชื้อให้ความทะยานอยากโหมแรง กลายเป็นว่ายิ่งมีมากยิ่งอยากใหญ่ แม้จะมีเสียงเตือน และเสียงเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่า ศีลธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนสังคมและคุ้มครองโลก แต่บุคคลผู้รับรู้และพยายามประคับประคองศีลธรรมมีน้อยเกินไป สังคมมนุษย์จึงวุ่นวายและกรอบเกรียมอย่างน่าวิตก "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******


*****
ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ  (คลิก)

*****

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558

กิน..กาม..เกียรติ (๓)


....ฯลฯ....
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวอยู่ภายใต้การจองจำของสังคม ซึ่งมีแต่ความหลอกหลอน สับปรับและแปรผัน ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวเป็นทาสของสังคมจนแทบจะกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้ จะทำอะไรจะคิดอะไรก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสังคมไปเสียหมด สังคมจึงกลายเป็นเครื่องจองจำชีวิต ที่มนุษย์ซึ่งสำคัญตัวเองว่าเจริญแล้วช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อผูกมัดตัวเองให้อึดอัดรำคาญ มนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและจิตใจ ดูแล้วความสะดวกสบายและเสรีภาพของมนุษย์จะสู้สัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่ได้ที่มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ ดูอย่างเช่น ฝูงวิหคนกกา มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ตามที่มนุษย์เราเองชอบพูดกัน แต่ดูเหมือนพวกเราจะมีสุขน้อยกว่าสัตว์ ภาระใหญ่ที่ต้องแบกไว้คือ เรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ มันเป็นภาระหนักยิ่งของมนุษยชาติ 
       สัตว์เดรัจฉานตัดไปได้เรื่องหนึ่งคือเรื่องเกียรติ คงเหลือแต่เรื่องกามและเรื่องกิน นักพรตอย่างพวกเธอนี้ตัดไปได้อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียว ปลดภาระไปได้อีกมาก 
       แต่การกินอย่างนักพรตกับการกินของผู้บริโภคกามก็ดูเหมือนจะบรืโภคแตกต่างกันอยู่ ผู้บริโภคกามยังหนาแน่นด้วยโลกีย์วิสัย บริโภคเพื่อยุกามให้กำเริบ จะต้องกินอย่างมีเกียรติ กินให้สมเกียรติ มิใช่กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะ ความจริงร่างกายคนเรามิได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก เมื่อหิวร่างกายก็ต้องการอาหารเพียงเพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วย จึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศและแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วง คนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้ แต่จำต้องทำเหมือนโคหรือควาย ซึ่งเบื่อหน่ายต่อแอกและไถ แต่จำใจต้องลากมันไป ลากมันไป  อนิจจา ! "
....ฯลฯ...
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

กิน..กาม..เกียรติ..(๒)


....ฯลฯ....
     " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหาทางออกอย่างพวกเธอนี้เป็นเรื่องประเสริฐแท้ การแก่งแย่งการเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ในที่สุดทุกคนก็รู้เองว่าเหมือนแย่งกันเข้าไปสู่กองไฟ มีแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวาย เสนาบดีดื่มน้ำด้วยภาชนะทองคำกับคนจน ๆ ดื่มน้ำด้วยภาชนะที่ทำด้วยกระลามะพร้าว เมื่อมีความพอใจย่อมมีความสุขเท่ากัน นี่เป็นข้อยืนยันว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ  อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจ แม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า แน่นอนทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นมิใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบเยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย "
     " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ลาภและยศนั้นเป็นเหยื่อของโลกที่น้อยคนนักจะสละและวางได้ จึงแย่งลาภแย่งยศกันอยู่เสมอ  เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกินแต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย หรือ เหมือนไก่ที่แย่งใส้เดือนกัน  จิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันไปทั้งสองฝ่าย น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง มีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกันและลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุุผลในการตัดสินปัญหาและดำเนินชีวิต โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิด หน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอคือลดความโลภ ความโกรธ และความหลงของเธอเองให้น้อยลง แล้วจะประสบความสุขความเยือกเย็นมากขึ้น เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด ความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******


*******
กิน..กาม..เกียรติ (คลิก) 

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

กิน..กาม..เกียรติ


....ฯลฯ....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย !  ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง ตราบใดมนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย  มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเหนื่อย เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็ก ๆ เพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนมากมัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิตที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้นภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้นจิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อม ๆ กันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! คนในโลกส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความกลับกลอกและหลอกลวงหาความจริงไม่ค่อยได้ แม้แต่ในการนับถือศาสนา ด้วยอาการดังกล่าวนี้ โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรังตลอดเวลา ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบาย แต่สถานที่เหล่านั้น มักบรรจุเต็มไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมาก ภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ได้อย่างไร "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******
*******

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

มรรค....


....ฯลฯ....
     " ดุกรภิกษุทั้งหลาย !  บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปดประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้าพระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี้แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติ เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายามเธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่าง ๆ สิ่งที่ไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าเห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เพียงสักว่า ๆ ไม่หลงไหลพัวพัน มัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่าง ๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่ "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย !ธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกคลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมอยู่ในธรรม "
....ฯลฯ....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

ศีล...

...รุ่งเช้าเสด็จกลับจากทรงบาตร...
...เยื้องพระกายดูกรุงไพศาลีเป็นครั้งสุดท้าย...
.....ฯลฯ.....
...และแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณฑุคามและโภคนครตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนา อันเป็นไปเพื่อโลกุตตราริยธรรม กล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุติญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า....
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่ง แผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้ เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลเป็นผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน "
     " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิคือความสงบใจ สมาธิมีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนัง มีประตูหน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลม แดด และฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ฝนตกก็ไม่เปียกแดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้นย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย เมื่อลม แดด และฝน กล่าวคือ โลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อนให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสวะต่าง ๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน "
    " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ปัญญาที่มีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ "
     " อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกด้วย ศีล สมาธิและปัญญา ย่อมหลุดพ้นอาสวะทั้งปวง "
      " ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ย่อมพบกับปีติปราโมทย์อันใหญ่หลวง รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ อิ่มอาบซาบซ่านด้วยธรรมตนของตนนั้นแลเป็นผู้รู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่าง ๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด ย่อมรู้ด้วยตนเองว่าบัดนี้แขนของตนได้ขาดแล้ว "
.....ฯลฯ.....
(จากหนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน แจกเป็นธรรมทาน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
******