วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ใครคือคนดี.....

ใครคือคนดี มีประโยชน์ ฉลาด และเป็นธรรม...
   ถาม ใครคือคนดี มีประโยชน์ ฉลาด และเป็นธรรม
   ตอบ  บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ก็ต้องเป็นบุคคลที่ ทำแต่สิ่งดี ๆ บ่อย ๆ มาก ๆ อย่างต่อเนื่อง  จนเป็นปกติ จนกลายเป็นอุปนิสัย
   ถาม  อะไร คือ สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ฉลาด และเป็นธรรม
   ตอบ  ๑.สิ่งที่ดี(บาลีว่า สาธุ) นั้น นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ยังได้ชื่ออื่น ๆ อีก ๑๐ ชื่อคือ
             ๒.เป็นสิ่งที่ประเสริฐ (อริยะ)
             ๓.สิ่งที่ฉลาด(กุศล)   ๔. สิ่งที่มีประโยชน์
             ๕.สิ่งที่เป็นธรรม        ๖.สิ่งที่ไม่มีอาสวะหมักหมม
             ๗.สิ่งที่ไม่มีโทษ        ๘.สิ่งที่ไม่ทำให้เดือดร้อน
             ๙.ไม่เป็นไปเพื่อสะสมกิเลส ทำให้บรรลุนิพาน
             ๑๐.มีสุขเป็นกำไร     ๑๑.มีสุขเป็นผลวิบาก
    สิ่งที่ดี ๆ เลิศ ๆ ทั้ง ๑๑ ข้อนี้ คือ อะไรบ้าง โปรดติดตามคำตอบที่มีในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ สาธุวรรค อังคุตรนิกาย ทสก เอกาทสกนิบาต ข้อที่ ๑๗๘ เป็นต้นไป...ขอเขียนสรุปประเด็นสำคัญ คือ
    * สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐ...สิ่งที่..ฯลฯ ได้แก่
           ๑.เจตนางดเว้นจาก การฆ่าสัตว์
           ๒.เจตนางดเว้นจาก การถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว
          ๓.เจตนางดเว้นจาก การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย แย่งของรัก ของหวงผู้อื่น
          ๔.เจตนางดเว้นจาก การพูดไม่จริง
          ๕.เจตนางดเว้นจาก การพูดส่อเสียดยุยงให้แตกแยก
          ๖.เจตนางดเว้นจาก การพูดหยาบคายด้วยจิตโกรธ
          ๗.เจตนางดเว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อไม่มีหลักฐาน ไม่ถูกเวลา
         ๘.ไม่มีอภิชฌาความโลภเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
        ๙.ไม่มีความพยาบาท ปองร้าย
        ๑๐.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องชอบธรรม
      ที่น่าสนใจมาก ๆ ๆ ๆ คือในเล่มนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสิ่งที่ดี ๆ เลิศ ๆ นี้ไว้อีกหมวดหนึ่งใน สาธุวรรค ข้อ ๑๓๔ เป็นต้นไปดังนี้...
      * สิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐ..สิ่งที่..ฯลฯ ได้แก่
        ๑.สัมมาทิฏิฐิ       ความเห็น ถูกต้องชอบธรรม
        ๒.สัมมาสังกัปปะ ความคิด ถูกต้องชอบธรรม
        ๓.สัมมาวาจา      การพูดจา ถูกต้องชอบธรรม
        ๔.สัมมากัมมันตะ การกระทำทางกายถูกต้องชอบธรรม
        ๕.สัมมาอาชีวะ   การเลี้ยงชีวิต ถูกต้องชอบธรรม
        ๖.สัมมาวายะมะ  ความพากเพียร ถูกต้องชอบธรรม
        ๗.สัมมาสติ        ความระลึกรู้ ถูกต้องชอบธรรม
        ๘.สัมมาสมาธิ   ความตั้งใจมั่น ถูกต้องชอบธรรม
        ๙.สัมมาญาณ   ความรู้ ถูกต้องชอบธรรม
        ๑๐.สัมมาวิมุติ   ความหลุดพ้น ถูกต้องชอบธรรม
      นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ใน ปุคคลวรรค ที่ ๑  ข้อที่ ๑๕๕  ว่า...
      บุคคลผู้มีสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นนี้ ถือว่า  เป็นบุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรนั่งใกล้ ควรบูชา ควรสรรเสริญ ควรเคารพ ควรยำเกรง เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้สามารถครอบงำ ความเย่อหยิ่ง ถือตัวได้ และเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา
      ส่วนบุคคลใด ทำสิ่งที่ตรงกันข้าม กับ ๑๐ ประการข้างต้น นั้น... เขาก็เป็นบุคคลที่เรา...ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรนั่งใกล้ ไม่ควรบูชา ไม่ควรสรรเสริญ ไม่ควรเคารพ ไม่ควรยำเกรง เขาย่อมเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ เขาไม่สามารถครอบงำความเย่อหยิ่งถือตัวได้ และเป็นผู้ไม่เจริญด้วยปัญญา
*************
 (จากหนังสือ เทคนิคเพิ่มสุข โดย ภิกษุณี รุ้งเดือน นันทญาณี อารามภิกษุณี นิโรธาราม จอมทอง เชียงใหม่)
************************

วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปล่อยวาง..ปล่อยปละละเลย


...เมื่อวันก่อน  กัลยาณมิตร อยู่ที่ปากน้ำพาไปไหว้พระที่วัดอโศกการาม  ไปสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าอโศกมหาราชที่ตั้งอยู่ภายในวัด...พระเจ้าอโศกมหาราช  ทรงเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา...
                                           ********
       ชาวพุทธ คือผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย  
      สำหรับปุถุชน ความไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นเครื่องฝึกตนเท่านั้น
      จึงจะต้องระวังมาก เพราะความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น เรารับมาด้วยสัญญา ไม่ใช่ปัญญา  คือ  เราฟังคำ สั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไป เราก็เกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ เพราะมันไม่เป็นไป ตามที่เราต้องการ เราฟังแล้วก็เลื่อมใส เห็นว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และชอบใจ นำ มาปฏิบัติ
         ในกรณีอย่างนี้ เรียกว่าได้ ปัญญา มานิดหน่อย แต่ตัวหลักปฏิบัติ ที่รับมาเป็นเพียง สัญญา เท่านั้น และเราก็รับเอาหลักนั้นมาปฏิบัติตาม สัญญาว่า เอ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนะ กลับไปบ้านก็บอกว่า นี่ไม่ใช่ลูกของเรา นี่ไม่ใช่ภรรยาของเรา นี่ไม่ใช่เงินของเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งนั้น ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร นี่คือเกิดความประมาทแล้ว
         การที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรนี้ เป็นเพียง ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพราะความไม่ยึดมั่นตัวนี้ ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่แท้ มันเป็นเพียงความไม่ยึดมั่นที่เกิดจากสัญญา แล้วเราก็เอาตัวความไม่ยึดมั่นนี้มาจับยึดเข้าไว้อีกที่หนึ่ง เลยเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น จึงว่า ต้องระวังให้ดี ถ้าเป็นปุถุชน จะทำ ได้แค่นี้    ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้น เกิดจากปัญญา  เมื่อเราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว เรารู้ทันสัจธรรมแล้ว ความเป็นไปของมันก็ไม่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอิสระ ต่อจากนั้นเราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ตามเหตุตามผลด้วยปัญญา
         หลักการนี้สำคัญมาก ถ้าเรามีทรัพย์ ก็ปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้อง ตามเหตุผล ทรัพย์มีเพื่ออะไร ก็นำ ไปใช้ให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์นั้น ไม่ใช่ไปมัวยึดมั่นถือมั่นให้เป็นเหตุบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์  แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ไม่รับผิดชอบ ต้องใช้มันให้สมคุณค่า ให้ถูกต้องตามความหมายของมัน ทรัพย์ก็เกิดประโยชน์แท้จริง ถ้าทำ ได้อย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็น  ชาวพุทธแท้ คือ ผู้ปล่อยวางได้ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย
         น่าจะถือเอาพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ  ตามคตินี้  พระองค์ก็คงทรงพระดำริว่า ทรัพย์นี้เราจะไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้  และมันก็ไม่ใช่ความหมาย ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของชีวิต มันไม่สามารถให้ความสุขที่แท้และยั่งยืนแก่ชีวิต เราเคยลุ่มหลงแสวงทรัพย์มาเป็นเครื่องแสดงความยิ่งใหญ่ และบำรุง บำเรอความสุขสบายของตนเอง ต่อไปนี้ไม่เอาแล้ว เราจะไม่ลุ่มหลงมัวเมากับมัน  แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทิ้งทรัพย์นั้น แต่เปลี่ยนมาปฏิบัติต่อทรัพย์ด้วยเหตุผล โดยพลิกความหมายของทรัพย์ไปในทางใหม่ว่า ทรัพย์นั้นไม่ใช่มีความหมายที่จะเป็นเครื่องบำเรอให้เราเป็นสุข เพราะเรามีความสุขได้เองแล้ว  เราพัฒนาจิตใจด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า  เรามีความสุขที่ประณีตกว่าแล้ว ทรัพย์สินสมบัติเหล่านี้ กับทั้งอำนาจ ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา  แต่ถ้าเรารู้จักใช้ มันก็เป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เป็นเครื่องมือของธรรมที่จะทำ ความดีให้แก่สังคม
        นับแต่นั้นมา พระเจ้าอโศกมหาราชก็ได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ โดยตรัสว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นี้ จะไม่มีความหมาย   ถ้าไม่ช่วยให้ประชาชนปฏิบัติธรรม และได้โปรดให้จารึกข้อความนี้ไว้ในศิลาจารึก  และพระองค์ก็ได้ใช้ทรัพย์และอำนาจนั้นในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน  ทำความดีเป็นการใหญ่ตามนโยบาย...ธรรมวิชัย......

    (จากหนังสือ จากริกบุญ  จารึกธรรม   พระพรหมคุณาภรณ์  ..ปยุตโต )
********

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ..


ยสะเจดีย์ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สารนาถ เมืองพาราณสี

     มีกุลบุตรผู้หนึ่งชื่อ ยสะ เป็นบุตรของเศรษฐีเมืองพาราณสี ครั้นนั้นเป็นฤดูฝน ยสะกุลบุตรอยู่ปราสาทที่เหมาะแก่ฤดู มีหญิงล้วน ๆ ขับร้องประโคมดนตรี คืนวันหนึ่งยสะตื่นขึ้นมายามดึก เห็นอัปกริยาของหญิงนางบำเรอมีอาการต่าง ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย จึงสวมรองเท้าเดินออกจากบ้าน ไปตามทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันเดินพลางบ่นไปพลางว่า " ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ " ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมได้ยินเข้า จึงตรัสไปว่า " ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญทางนี้เถิด และนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน " ยสะได้ยินดังนั้นจึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าถวายนมัสการ แล้วนั่งลงที่สมควรแห่งหนึ่ง
      พระพุทธองค์ทรงแสดง อนุปุพพีกถา ๕ ประการ แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ พอจบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม...
     ฝ่ายมารดาของยสะตื่นขึ้นตอนเช้าไม่เห็นลูกชาย จึงบอกแก่สามีและจัดแจงให้คนใช้ไปตามหา ส่วนเศรษฐีผู้บิดาของยสะ เดินไปตามลูกชายที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าก็จำได้จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเทศนา อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ เหมือนกัน พอจบธรรมเทศนาเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม...ส่วน ยสะ สำเร็จพระอรหันต์...(จากหนังสือ เรียนรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ฉบับธรรมศึกษา ชั้นตรี)
         *******
อนุปุพพีกถา เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจจ์  พระองค์ทรงเลือกแสดงธรรมให้ตรงกับอุปนิสัย ตรงกับเหตุการณ์ ถูกกับจริตของแต่ละบุคคล มี ๕  คือ
๑.ทานกถา พรรณาทาน ประโยชน์ของการให้ ละความเห็นแก่ตัว การสงเคาระห์ช่วยเหลือผู้อื่น
๒.สีลกถา พรรณาศีล การไม่เบียดเบียน รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย ไม่ก่อภัยให้เกิดขึ้น
๓.สัคคกถา พรรณาสวรรค์ สมบัติ ความสุขที่พรั่งพร้อม ที่ผู้ให้ทานและผู้มีศีลจะพึงได้รับในโลกมนุษย์และสวรรค์จากรสของกิเลสกามและวัตถุกาม
๔.กามาทีนวกถา พรรณาโทษของกาม รสอร่อยของกิเลสกามและวัตถุกามที่ได้มาจากการมีความรู้ มีทรัพย์และมีความประพฤติดี แม้ว่าจะเป็นความสุข แต่ก็ยังเจือด้วยทุกข์ต่าง ๆ ไม่ควรเพลิดเพลิน ควรเบื่อหน่ายด้วยเหมือนกัน
๕.เนกขัมมานิสังสกถา พรรณาอานิสงส์แห่งการออกจากกามคือ การทำจิตให้ออกจากกิเลสกาม และวัตถุกาม ด้วยการกำจัดกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้ออกจากจิต อันเป็นจุดหมายสูงสุดในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์
(เรียบเรียง จากพจนานุกรมพุทธศาสน์)
******



*****
ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ (คลิก)

******

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นิวรณ์


*****
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า...
นฺตถิ ฌาน อปญฺญสฺส   ปฺญญา  นฺตถิ  อฌายโต
ยฺมหิ  ฌานญฺจ ปฺญญา จ  สเว นิพฺพานสฺตติเก
ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มี ปัญญา
ปัญญา ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มี ฌาน
ฌาน และ ปัญญา มีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้นแล ตั้งอยู่ในที่ใกล้พระนิพพาน
           (๒๕/๓๕)
  ฌาน มี ๒ ความหมาย คือ ๑)เพ่งอารมณ์ ๒)เครื่องเผาธรรมที่เป็นปฏิปักษ์
  ฌาน มี ๒ อย่าง            คือ ๑) อารัมมนูปนิชฌาน การเพ่งอารณ์อย่างมั่นคง
                                               ๒) ลักขณูปนิชฌาน  การเพ่งสภาวะลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา -ของอารมณ์ 
  องค์ฌาน มี  ๕  ได้แก่  วิตก  วิจาร  ปิติ  สุข  เอกัคคตา
  ธรรมที่เป็นปฏิปักษฺของฌาน ได้แก่ นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นความดี หมายถึง ขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานได้
   นิวรณ์ ๕ ได้แก่ 
๑.กามฉันทะ ความยินดีติดใจในกามคุณ ๕  เปรียบเหมือน คนติดหนี้  เผาด้วยองค์ฌาน คือ เอกัคคตา
๒.พยาบาท ความผูกโกรธ ปองร้าย เปรียบเหมือน คนเป็นโรคประสับกระส่าย เผาด้วยองค์ฌาน คือ ปิติ
๓.ถีนะมิทะ ความหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ เปรียบเหมือน คนติดคุก เผาด้วยองค์ฌาน คือ วิตก
๔.อุทธัจจะ กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เปรียบเหมือน ทาสรับใช้ เผาด้วยองค์ฌาน คือ สุข        
๕.วิจิกิจฉา ความลังเลเคลือบแคลงสงสัย เปรียบเหมือน คนเป็นอยู่ในทางไกลกันดาร เผาด้วยองค์ฌาน คือ วิจาร        
          พระพุทธเจ้าตรัสว่า  นิวรณ์ เป็นกองอกุศล เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตใจเร่าร้อนเบียดเบียนอยู่  นิวรณ์ เมื่อครอบคองผู้ใดแล้ว ย่อมบั่นทอนปัญญา ไม่ให้รู้จักประโยชน์ตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และไม่สามารถทำให้เกิดญาณทัสสนะอันวิเศษที่กระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ (รวบรวมจากพระสูตรและอรรถกถา เช่น อาวรณสูตร และราสิสูตร อังคุตตนิกาย ปัญจกนิบาต)     
         * ใน อวิชชาสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
       อาหาร ของ อวิชชา  คือ  นิวรณ์ ๕  และ 
       อาหาร ของ นิวรณ์ ๕ คือ ทุจริต ๓ (กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓)
       ละนิวรณ์ ๕ ได้ เข้าฌานได้ หรืออาจเป็นปัจจัยให้บรรลุนิพพานได้
         * ส่วนใน อวิชชาสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า...เมื่อพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ละได้แล้ว..ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิด ปีติ  เมื่อมีปีติ ย่อมเกิดปัสสัทธิ(กายสงบ) เมื่อเกิดปัสสัทธิ ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น  เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน...ฯลฯ
         * ส่วนใน กิมัตถิยสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสว่า..
         สุข  มี สมาธิ  เป็นผล  เป็นอานิสงส์...
         สมาธิ มี ยถาภูตญาณทัสสนะ(การรู้เห็นตามจริง) เป็นผล เป็น อานิสงส์...
         ยถาภูตญาณทัสสนะ  มี นิพพิทา(ความเบื่อหน่าย)  วิราคะ(จางคลายจากความติดใจ)เป็นผล เป็นอานิสงส์..
         นิพพิทาวิราคะ  มี วิมุตติญาณทัสสนะ (มีความรู้ความเห็นในการหลุดพ้น) เป็นผล เป็นอานิสงส์
            (จาก หนังสือ " เทคนิคเพิ่มสุข " โดย ภิกษุณี รุ้งเดือน นันทญาณี อารามภิกษุณี นิโรธาราม)


*******
ตะปูตอกใจ (คลิก)

***********

วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วิมุตตายตนสูตร





                                                  ******

"...การไหว้พระทำวัตรเจริญพระพุทธมนต์นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานได้เหมือนกัน ดังท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร ซึ่งปรารภเหตุที่บุคคลจะได้บรรลุสามัญญผลนั้นไว้ ๕ ประการคือ
๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม
๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม
๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม
๔. บรรลุในขณะที่พิจารณาธรรม
๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ
   ....เหตุทั้งห้าประการนี้เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรม  บรรลุอริยมรรค อริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป จนถึงพระอรหันต์ได้....."
                               ฯลฯ
       "....บรรลุในขณะที่ฟังธรรม หมายความว่า การฟังธรรม ถ้าว่าเราฟังเป็น ตั้งอกตั้งใจฟังจริงๆ และก็ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดง ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมะที่ท่านแสดงนั้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน คือในขณะที่เราส่งจิต ส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ไม่เผลอในขณะนั้น เป็นสมาธิติดต่อกันตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิไปตามลำดับๆ ในขณะที่ใจของเราเป็นสมาธิ  จะเป็นอุปจารสมาธิหรือขณิกสมาธิ ก็ตาม ในขณะนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ จิตใจของเราก็บริสุทธิ์สะอาด เกิดความปราโมทย์ เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ  เกิดปีติความเอิบอิ่มใจ  ความดีใจ  ความตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้ จิตของเราสงบ เมื่อจิตสงบแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความสุข เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุเบกขา ความวางเฉยในรูปนาม หลังจากนั้นสมาธิก็จะก่อตัวขึ้นตามลำดับๆ เป็นสมาธิที่หนักแน่นเรียกว่า สมาหิโต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปริสุทโธ จิตจะบริสุทธิ์สะอาด  เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์สะอาดแล้ว  ก็ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว  จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเกิดปัญญา มีสติปัญญาว่องไวไหวพริบ ในการพิจารณาเนื้อหาสาระธรรมะที่ท่านแสดงเรียกว่า กัมมนิโย คือจิตคู่ควรแก่การงาน ว่องไวไหวพริบมีความฉลาดหลักแหลมดี ในการพิจารณาจนเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ก็จะสิ้นกำหนัด เมื่อจิตไม่มีความกำหนัด ก็หลุดพ้น หมดจดสะอาด และผ่องใส แล้วก็ได้บรรลุมรรคผล พระนิพพาน อันนี้เรียกว่าบรรลุในขณะที่ฟังธรรม ..."
                                  ฯ ลฯ
                             (พระราชปริยัติยากร )



******
   วิปัสสนา (คลิก)

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วิปัสสนา



*****
"...การเจริญวิปัสสนา นั้น ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานต้องทำให้ปัญญารู้แจ้ง ซึ่ง"รูป" ซึ่ง"นาม" รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร เพราะเหตุไรจึงจำเป็นที่จะต้องรู้แจ้งแทงตลอดทั้ง"รูปนาม "
      เพราะเหตุว่าการที่ไม่รู้ "รูปนาม "ทำให้คนเราทั้งหลาย หลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงชัง หลงตัวเองในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์  และการไม่รู้ "รูปนาม"นี้เอง ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเวียนว่าตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น 
      การรู้รูปนามทำให้คนเรา หมดตัณหา มานะ ทิฏฐิ สิ้นอาสวะกิเลส ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตัดกำกงของวัฏฏะสงสารได้เด็ดขาด ไม่หมุนเวียนต่อไป เหตุนั้นจึงจำเป็นต้องรู้ "รูปนาม "ด้วยความเป็นจริง
       ทำอย่างไรจึงจะรู้ "รูปนาม "ด้วยความเป็นจริง เราต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่นว่า กำหนดอาการพอง อาการยุบ..ว่า "ยุบหนอ   พองหนอ.."  ตรงใหนเป็น "รูป "ตรงใหนเป็น "นาม"...กำหนดว่า  "เห็นหนอ ๆ "ตรงใหนเป็น"รูป "ตรงใหนเป็น"นาม "ฯลฯ...."
            (  " วิปัสสนา "  ธรรมะบรรยาย   พระราชปริยัติยากร)






*****
แยกธาตุ ตัวตนไม่มี  (คลิก)

สังขารร่างกาย (คลิก)

วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กัลยาณมิตร



*****
" ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? "
" พระพุทธเจ้าค่ะ , ข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องนาย ตัมพทาฐิกะ เขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เขาพ้นจากตำแหน่งในวันนี้  ทำบุญทำทานในวันนี้ แล้วตายในวันนี้ เมื่อเขาตายแล้วจะไปเกิดที่ใหนหนอ ? พระพุทธเจ้าค่ะ "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปเกิดแล้วในชั้นดุสิตบุรี "
   พอพระพุทธองค์ทรงตรัสเช่นนี้ พระสงฆ์ทั้งหลายก็งงทันทีและกราบทูลว่า
"พระพุทธเจ้าค่ะ  พระองค์ทรงตรัสเรื่องอะไร....เป็นไปได้หรือ นายตัมพทาฐิกะ  เป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าคน ตายแล้วจะไปเกิดในชั้นดุสิตได้อย่างไร  พระพุทธเจ้าค่ะ ..หรือว่าผลของบุญบาปนั้นไม่มี  "
" ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายอย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย เรื่องนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่มีกัลยาณมิตร สักคนเลย จึงได้ทำบาปมีประมาณเท่านั้น ๆ แต่บัดนี้ บุตรของเราได้ กัลยาณมิตร ได้คบหาสมาคมกับพระสารีบุตร ได้ฟังเทศนาของพระสารีบุตร ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ค่าที่เธอได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันนั้นแหละ จึงเป็นเหตุให้เธอไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี นี้แล "
                                  *****
                    (ธรรมะบรรยาย ของพระราชปริยัติยากร วัดพิชโสภาราม)

******
หนทางอันประเสริฐ (คลิก)
บุพนิมิตร (คลิก)