วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฉันวันนี้


(ชั้น ม.๓ (รุ่นสุดท้าย) ปี พ.ศ.๒๕๐๖ )
*****
...เห็นข่าวสารบ้านเมืองเราในปัจจุบันนี้แล้ว สำหรับฉันแล้วต้องบอกได้คำเดียวว่า ช่างเป็นเรื่อง"เหลือเชื่อ" จริงๆ ..เผลอหน่อยเดียวฉันกลายเป็น"เต่าล้านปี"ไปแล้ว...
    จำได้ว่าสมัยเป็นนักเรียนครูเคยบอกว่า สถาบันที่สำคัญของชาติเราคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีสีเป็นสัญญาลักษณ์ดังที่เห็นในธงชาติของเราคือ แดง ขาว น้ำเงิน  และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกคน ก็จำมาอย่างนี้จนถึงทุกวันนี้    ...สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จดจำได้แม่นเพราะทั้งหมดนั้นอยู่ในวิชาที่เรียนซึ่งจะต้องจดจำไปทำข้อสอบในหลายวิชา เช่น วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม วิชาประวัติศาสตร์ วิชาภูมิศาสตร์ เป็นต้น


ชายแดนไทย - พม่า ที่บ้านอีต่อง
ภาพจาก http://www.thailandoffroad.com

      ชาติ น่าจะหมายถึง แผ่นดิน และมีธงชาติเป็นสัญญาลักษณ์ หากไม่มีทั้งสองนี้ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็คงหมดศักดิ์ศรี หมดความภูมิใจในความเป็นคนไทย  ท่านที่ไปเที่ยวชายแดนหรือไปต่างประเทศแล้วเดินทางกลับมาคงจะบอกถึงความรู้สึกนี้ได้เป็นอย่างดี
      ศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติก็ได้เพราะมีคนส่วนใหญ่นับถือศาสนานี้ อย่างไรก็ตาม ทุกศาสนาก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างร่มเย็นตลอดมาเพราะเราเชื่อว่าทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี
      พระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมา ทุกพระองค์ทรงเป็นจอมทัพในการทำสงคราม สร้างบ้านสร้างเมือง รักษาอาณาเขต กอบกู้อิสรภาพให้กับชาติไทยมาโดยตลอด ทุกยุคสมัยตั้งแต่ราชอาณาจักรสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่เราเคยเรียนกันมาในวิชาประวัติศาสตร์ก็คงจะยังคงจำได้เป็นอย่างดี....
           ฉันไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนยังมีวิชาที่ฉันเคยเรียนเมื่อสมัยห้าสิบปีที่แล้วอยู่หรือเปล่า...ช่วงสองสามปีมานี่บ้านเมืองเปลี่ยนไปอย่างน่าแปลกใจ...แผ่นดินที่บรรพบุรุษได้เสียเลือดเนื้อชีวิตเข้าแลกไว้  จะมีใครมาแบ่งแยก  !!??
       

(ภาพจากอินเตอร์เนต)

...สองสามวันมานี้เห็นข่าวพระสงฆ์ถูกทำร้าย..สถานพยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองจากทุกฝ่ายเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากล  ก็ยังถูกข่มขู่..ผู้คนในบ้านเมืองเราขณะนี้จิตใจช่างโหดร้าย ไร้ศาสนาจริง ๆ...


(ภาพจากอินเตอร์เนต)

(ภาพจากอินเตอร์เนต)

....ฉันยังอยากเห็นธงชาติไทย ที่มีสามสีคือ แดง ขาว น้ำเงิน ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา....
     ก็คงจะต้องเชื่อนิทานที่เล่าสู่กันฟังมานานแล้วว่า แผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติดีทุกอย่าง..ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่ดีคือคนไทย...(ฮา)...😭



      


วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

คนพาลที่เมืองพุทธ

*****
เห็นข่าวเหตุการณ์ที่คนไทยกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายพระสงฆ์ 
ที่หน้า ปปช.แล้ว  ในฐานะเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง
รู้สึกสังเวชใจ...นี่หรือที่ผู้คนทั่วไปกล่าวว่าเป็น
ดินแดนของพุทธศาสนา...
พระสงฆ์รูปนั้นพยายามที่จะหลีกหนีไปให้พ้นคนใจบาป
กลุ่มนั้น แต่เนื่องด้วยสภาพเครื่องนุ่งห่มของพระทำให้
ท่านไม่สามารถจะหลีกหนีออกมาได้ทันที...
อย่างไรก็ตามท่านก็อยู่ในอาการอันสงบ 
ไม่ได้คิดจะต่อสู้กับคนใจบาปกลุ่มนั้นแต่ประการใด..
(ขออภัยไม่สามารถนำภาพที่สะเทือนใจนั้นมาลงให้ดูได้ในที่นี้)
******

มหิฬามุขชาดก...ชาดกว่าด้วยโทษของการคบคนพาล

         ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตมีช้างพระที่นั่งชื่อ พลายมหิฬามุข เป็นช้างที่งดงาม สงบเสงี่ยมเรียบร้อย อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด พระองค์จึงโปรดปรานมาก  ต่อมามีโจรกลุ่มหนึ่งได้มาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ไม่ไกลจากโรงช้างนัก ทุกๆ คืนในเวลาดึกสงัด พวกโจรจะวางแผนปล้นสะดมชาวบ้านชาวเมือง ปรึกษาหารือกันต่างๆ เป็นต้นว่า จะขุดอุโมงค์อย่างไร จะซ่อนตัวที่ไหน จะข่มขวัญหรือฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างไร ครั้นเมื่อปล้นกลับมาแล้ว จะเลี้ยงฉลองกันด้วยสุราอาหาร ต่างพูดถึงการปล้นราวกับไปสร้างวีรกรรมมา จากนั้นจะวางแผนปล้นฆ่ากันต่อไป เป็นเช่นนี้ทุกคืน  
            พลายมหิฬามุขได้ฟังพฤติกรรมที่ทารุณโหดร้ายอยู่ทุกคืนๆ ก็สำคัญผิดคิดว่าเขาต้องการสอนให้ตนทำเช่นนั้นด้วย จึงได้เปลี่ยนกิริยาอาการตามไป เริ่มแสดงท่าทางเกะกะเกเรขึ้นเรื่อยๆ ใช้งวงหวดซ้ายป่ายขวาบ้าง เห็นใครเดินเข้ามาใกล้ ก็จะเข้าทำร้าย แม้แต่ช้างด้วยกันยังไม่ละเว้น  จนกระทั่งในวันหนึ่งที่หลายมหิฬามุขตกมันก็ยิ่งแสดงอาการเกะกะเกเรอย่างน่ากลัว ถึงกับพังโรงช้างจนพินาศ เมื่อควาญช้างเข้าห้าม ก็ใช้งวงจับฟาดกับพื้นจนตาย แล้วยังอาวละวาดไล่ฆ่าควาญช้างอื่นๆ อีกหลายคน
           ความได้ทราบถึงพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงวิตกกังวลยิ่งนัก เพราะตามปกติแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่มีกตัญญูสูง การฆ่าควาญช้างที่เลี้ยงตนมา ช้างจะไม่ทำเด็ดขาด เว้นเสียแต่มันจะตกมันจนครองสติไม่อยู่ จำอะไรไม่ได้เท่านั้น แต่พลายมหิฬามุขเป็นช้างสงบเสงี่ยมเรียบร้อยมาก ถึงมันจะตกมันก็ไม่น่าจะร้ายกาจถึงเพียงนั้นได้ พระองค์จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์บัณฑิตผู้หนึ่งไปตรวจดูอาการของพลายมหิฬามุข ท่านบัณฑิตตรวจดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นปกติดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บใดๆ จึงได้เรียกประชุมควาญช้างทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น
พลายมหิฬามุขอยู่ในวังตั้งแต่เล็กแต่น้อย เป็นช้างที่ว่านอนสอนง่าย ไม่เคยดื้อดึงเลยสักครั้งเดียว แล้วอยู่ดีๆ ทำไมถึงกลายเป็นช้างที่โหดเหี้ยมไปได้ ต้องมีคนคอยเสี้ยมสอนแน่ๆ พวกเจ้าที่อยู่ในนี้คงจะรู้ จงบอกมาเดี๋ยวนี้ บัณฑิตคาดคั้นถาม
ไม่มีใครสอนจริงๆ ท่าน ควาญช้างทั้งหลายต่างตอบเป็นเสียงเดียวกัน อำมาตย์บัณฑิตจึงรุกต่อ
พวกเจ้าไม่เห็นมีอะไรผิดสังเกตบ้างเลยรึ
ไม่มีจ๊ะท่าน ทุกอย่างเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เคยให้น้ำ ก็ให้เหมือนเดิม ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบ เวลาฝึกก็ฝึก เวลานอนก็นอน อ้อ แต่หมู่นี้ พอตกกลางคืนจะมีเสียงหนวกหูน่ารำคาญเหลือเกิน ควาญช้างผู้หนึ่งสาธยาย
            อำมาตย์บัณฑิตซักถามได้ความว่าเป็นเสียงโจรที่มาซ่องสุมอยู่ใกล้ๆ จึงเชื่อว่าพลายมหิฬามุขมีนิสัยเปลี่ยนไปเพราะได้ฟังถ้อยคำของพวกโจร ครั้นตกเวลากลางคืน ท่านบัณฑิตได้มาพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง แล้วกราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ พระองค์จึงมีรับสั่งให้จับโจรกลุ่มนั้นมาลงโทษ แล้วทรงปรึกษากับอำมาตย์บัณฑิตว่า
พลายมหิฬามุขฟังถ้อยคำของพวกโจรจนเป็นช้างเกเรไปแล้ว ท่านบัณฑิตคิดว่ามีทางใดบ้าง ที่จะทำให้กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้
อำมาตย์บัณฑิตกราบทูลเสนอแนะว่า
ขอเดชะ โดยนิสัยของพลายมหิฬามุขนั้น จะเชื่อฟังคำสั่งสอนเสมอ การที่จะให้กลับเป็นช้างที่ดีได้นั้น ควรจะเชิญผู้ทรงศีลทั้งหลายไปสนทนาธรรมใกล้โรงช้างนั้น เมื่อพลายมหิฬามุขได้ฟังบ่อยเข้าๆ จิตใจจะโอบอ้อมอารี กลับเป็นช้างที่ดีดังเดิมได้ พระเจ้าข้า
พระเจ้าพรหมทัตจึงโปรดให้กระทำตามคำแนะนำของอำมาตย์บัณฑิต พลายมหิฬามุขเมื่อได้ฟังถ้อยคำสนทนาของผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นต้นว่า ควรมีความเมตตากรุณา ควรโอบอ้อมอารี มีความสำรวม ฯลฯ พลายมหิฬามุขได้ฟังธรรมอยู่เป็นประจำเช่นนั้นก็กลับเป็นช้างที่มีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดังเดิม พระเจ้าพรหมทัตทรงดีพระทัยมาก จึงได้พระราชทานรางวัลมากมายแก่อำมาตย์บัณฑิตผู้นั้น

ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
พลายมหิฬามุข              ได้มาเป็นพระภิกษุรูปนี้
พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้น ได้มาเป็นพระอานนท์
อำมาตย์บัณฑิต             ได้มาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
๑ . การคลุกคลีใกล้ชิดกับคนพาลเป็นโทษอย่างยิ่ง ฉะนั้นไม่ว่ากาลไหนๆ ควรหลีกให้ห่างไกลจากคนพาล และไม่คบคนพาลโดยเด็ดขาด
สำหรับคำว่า คบ นั้น ได้แก่ การมีพฤติกรรมต่อไปนี้
๑ . มีการไปมาหาสู่กัน
๒ . หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ ( ตีสนิท )
๓ . มีความจริงใจรักใคร่กันจริง
๔ . เลื่อมใสนับถือ
๕ . เป็นเพื่อนร่วมคิดเห็น
๖ . เป็นเพื่อนร่วมกินร่วมอยู่
๗ . ร่วมถ่ายทอดความประพฤติ
๒ . ลักษณะของคนพาล ได้แก่
๑ . ชอบคิดเรื่องชั่วต่ำเป็นปกติ
๒ . ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติ
๓ . ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติ
๓ . โทษของการคบคนพาล มีโดยย่อดังนี้
๑ . ทำให้พลอยแปดเปื้อนเป็นมลทิน ทั้งจะติดความเป็นพาลและมีวินิจฉัยเสียตามไปด้วย
๒ . ทำให้ถูกติเตียน ถูกมองในแง่ร้าย และไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนทั่วไป
๓ . ทำลายประโยชน์ของเรา ก่อให้เกิดความหายนะ การงานล้มเหลวเพราะคนพาลชอบก้าวก่ายงานของผู้อื่น
๔ . ภัยทั้งหลายจะไหลเข้ามาหาเรา เพราะคนพาลเป็นอัปมงคล อยู่ที่ไหนก็มีแต่เรื่องเดือดร้อน เราจึงพลอยได้รับความเดือนร้อนไปด้วย
๕ . ทำให้เราเอาตัวไม่รอด คุ้มตัวเองไม่ได้
๖ . มีอบายภูมิเป็นที่ไป

โบราณท่านว่า

ผ่านสุนัขให้ห่างศอก ผ่านวอก ( ลิง ) ให้ห่างวา
ผ่านพาลา ( คนพาล ) ให้ห่างร้อยโยชน์ พันโยชน์ หมื่นโยชน์

       แม้อำมาตย์บัณฑิตในอดีตกาลเมื่อพิจารณาเห็นโทษของการคบคนพาลว่ามีมากมายยิ่งนัก จึงอธิษฐานจิตว่า

ขอข้าพเจ้า อย่าพึงได้เห็น อย่าพึงได้ยินคนพาล แม้แต่คำว่า คนพาลอยู่ที่โน้น อย่าพึงอยู่ร่วมกับคนพาล อย่าพึงทำ และอย่าพึงพอใจการสนทนาปราศรัยกับคนพาลเป็นอันขาด

(ขอบคุณที่มาจาก  http://www.kalyanamitra.org/th/)

******



วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศีลใน


( "กุสินารา"ขอบคุณภาพจากป้าบีม)

ธรรมคุ้มครองโลก : ธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย
๑.หิริ : ความละอายบาป ละอายใจต่อการทำชั่ว
๒.โอตตัปปะ : ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)
*****
ศีล คือ ความปกติของกาย วาจา และจิตใจ
"ศีลแท้" เกิดขึ้นในจิตใจ มีใจเป็นแดนเกิดก่อน
ซึ่งประกอบไปด้วย หิริโอตตัปปะ คือ ความละอาย
และความเกรงกลัวต่อบาปเป็นหลักเป็นแกนกลาง
บุคคลใดมีหิริโอตตัปปะ"ศีลใน"
ประจำอยู่ในจิตใจของตนตลอดเวลาแล้ว
บุคคลนั้นเท่ากับมีศีลแล้วอย่างสมบูรณ์
เพราะมันจะออกมารักษากายวาจาใจด้วย
"ศีลใน"เป็นศีลที่ไม่มีตัวตนจะหยิบจับได้
เพราะมันเป็นอาการรู้สึก ธาตุรู้ หรือนามธรรม
ที่ตนรู้ตนเท่านั้น
*****
ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล๑๐ ศีล๒๒๗ นั้นคือ "ศีลสมมติ" หรือ
"ศีลนอก"เกิดจากการเขียนการบัญญัติขึ้นไว้เป็นข้อ ๆ 
เป็นศีลที่อยู่นอกกายนอกใจอันมีตัวตนที่จะหยิบจับได้ 
เช่น หนังสือ หรือใบลานต่าง ๆ เป็นต้น
"ศีลนอก"จึงเป็นศีลที่ใช้เตือนสติของตนเอง ให้มีความระมัดระวังต่อเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษ 
ทั้งตนเองและผู้อื่น 
เป็นการป้องกันและระวังแก่จิตที่ยังไม่รู้
 ยังไม่มี หิริโอตตัปปะ ให้ระลึกรู้ก่อนที่จะ
กระทำทุกข์โทษลงไป เพราะมีความไม่รู้นี่คือเหตุเกิดแห่งทุกข์ ศีลนอก จึงเป็นศีลที่ให้ได้เรียนรู้ว่ามีทุกข์โทษ
เพื่อจะได้ใช้ป้องกันไว้ก่อนทัน 
จนกว่าหิริโอตตัปปะ "ศีลแท้ "จะเกิดขึ้นมาในจิตใจ 
"ศีลนอก..ศีลสมมติ"ใช้ฝึกเพื่อเข้าสู่
"ศีลแท้..ศีลใน" คือ หิริโอตตัปปะ นั่นเอง...
*****
ศีลแท้ ต่างกับ ศีลสมมติอย่างไร  
บุคคลใดมี "ศีลแท้"หิริโอตตัปปะ อยู่ประจำใจ
เป็นธรรมชาติตลอดเวลาแล้ว 
เขาจะไม่สามารถก่อทุกข์โทษ
แก่ใครได้เลยทั้งต่อหน้าและลับหลัง 
เขาจะมีความละอายแก่ใจตนเองอยู่เสมอ
เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งผิด จิตจะเป็นทุกข์ร้อนรุ่ม
แม้ใครจะไม่รู้แต่ใจเขาย่อมรู้ 
เกิดความละอายแก่ใจตนเอง
จนไม่สมารถที่จะทำผิดได้เลย "รู้ก่อนทำ"
บุคคลใดแม้จะรู้   "ศีลสมมติ"กี่ข้อมากมาย
แต่หากยังไม่มี   หิริโอตตัปปะ 
เขาย่อมจะทำผิดศีลได้อีก
เมื่ออยู่ลับหลัง ด้วยคิดว่าไม่มีใครรู้เห็น
แล้วค่อยไปขอศีลใหม่ ไปต่อศีลใหม่ 
จึงเป็นแต่เพียงรู้ศีลเท่านั้นเอง...
ดังนั้น ศีลที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นเองภายในจิตใจจริง ๆ
อันเป็นศีลแห่งธาตุรู้ที่สามารถรู้ถูกรู้ผิด
ได้อย่างอัศจรรย์จริงๆจึงจะใช่......

(จากหนังสือ กตัญญูกตเวทิตาทาน เพื่อนใจผู้ใฝ่ธรรม)

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

เทวทัต

(คลิกบนภาพเพื่อดูภาพขยายใหญ่ขึ้น)
*****
     เทวทัต เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะ กับพระนางอมิตตา แห่งกรุงเทวทหะ เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ เทวทัตได้ออกบวชพร้อมกับเจ้าศากยะ อีก ๕ องค์คือ อานนท์ ภัททิยะ อนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ และอุบาลี พนักงานภูษาของเจ้าชายทั้งหกองค์
       พระบรมศาสดาทรงให้การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนแตกฉานสามารถทำให้ฌานสมาบัติเกิดขึ้นได้ ต่อมาได้ชักชวนดึงเอาอชาตศัตรูกุมารเข้ามาเป็นศิษย์ จึงบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะทั้งมวลทำให้เกิดโลภะเจตนาอยากจะเป็นใหญ่ทำการบริหารคณะสงฆ์เสียเอง ได้ไปกราบทูลขอต่อพระพุทธองค์ แต่ไม่ทรงอนุญาต จึงคบคิดกับโกกาลิกภิกษุ ทูลขอพุทธอนุญาต ๕ ประการเพื่อจะหาเรื่องกล่าวโทษพระพุทธองค์ เช่น ขออย่าให้ภิกษุฉันเนื้อ ฉันปลา เป็นต้น เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจึงพากันเที่ยวโฆษณาว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไม่จริงตามที่แสดงไว้ เพราะสอนไม่ให้ทำปาณาติบาต พระภิกษุบวชใหม่ ๕๐๐ รูปเห็นดีเห็นชอบจึงแยกออกไปตั้งคณะสงฆ์ใหม่ด้วยการสนับสนุนของอชาติศัตรู ไปอยู่ที่ภูเขาคยาสีสะ เมืองคยา ต่อแต่นั้นมาก็ได้แต่แนะนำสั่งสอนพวกบริวารของตนให้ประพฤติแต่ทางผิดธรรมวินัย ส่วนตนเองก็คิดจะเป็นพระพุทธเจ้า จนถึงกับพยายามทำลายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดาด้วยอุบายต่าง ๆ แต่ไม่สำเร็จ
        ต่อมาพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ได้มาพาภิกษุบวชใหม่ทั้ง ๕๐๐ รูป กลับคืนหมดในขณะที่พระเทวทัตกำลังนอนหลับอยู่ พอตื่นขึ้นมาถามพระโกกาลิกว่าพระไปใหนหมด ได้คำตอบว่าพระโมคคัลานะและพระสารีบุตรพากลับไปหมดแล้ว เลยเกิดทะเลาะกัน พระโกกาลิกบันดาลโทสะจึงเอาเข่ากระทุ้งที่หน้าอกจนพระเทวทัตกระอักเลือดได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส จึงระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า ตัวเราคิดแต่เรื่องไม่เป็นประโยชน์ต่อสมณโคดม ส่วนพระองค์หามีจิตคิดร้ายต่อเรา พวกภิกษุทั้งหลายก็ทิ้งเราไปหมดแล้ว ควรจะไปขอขมาโทษต่อสมณโคดม จึงให้บริวารที่เหลืออยู่หามตนเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่แคว้นโกศล
          เมื่อพระอานนท์ทราบข่าวว่าพระเทวทัตจะมาถวายนมัสการพระบรมศาสดา ก็เข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เทวทัตไม่มีโอกาสได้เห็นเราตถาคตเสียแล้ว  พอพระเทวทัตมาถึงประตูเมืองสาวัตถี พระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลอีก พระพุทธองค์ก็ยังคงตรัสอยู่อย่างเดิมว่า เทวทัตไม่มีโอกาสเห็นเราเสียแล้ว
           เมื่อพระเทวทัตมาถึงสระโบกขณีซึ่งอยู่บริเวณหน้าประตูเชตวันมหาวิหาร บาปที่พระเทวทัตทำไว้ก็ให้ผลถึงที่สุดในที่นั้นคือ  เกิดเร่าร้อนขึ้นทั้งตัว  จึงบอกแก่ลูกศิษย์ว่าอยากจะอาบน้ำและดื่มน้ำ จงวางเตียงลง    พระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่ง หย่อนเท้าทั้งสองลงไปจดแผ่นดิน  แผ่นดินก็แยกออกเป็นช่องสูบตัวพระเทวทัตลงไปจนถึงคอ พระเทวทัตระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า จึงกล่าวขอขมาโทษและขอยึดพระพุทธองค์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐต่อไป กล่าวแล้วก็ถูกแผ่นดินสูบจมหายลงไปสู่อเวจีมหานรก....

                                     ******                                              
         ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลถามพระศาสดาว่า พระเทวทัตเมื่อถูกธรณีสูบแล้วไปเกิดอยู่ ณ ที่ใด พระศาสดาตรัสว่า ในอเวจีมหานรก เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า พระเทวทัตเดือดร้อนในโลกนี้ จะไปเกิดในที่เดือดร้อนในโลกหน้าอีกหรือไม่ พระศาสดาตรัสว่า เป็นอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลาย จะเป็นบรรพชิตก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว......


                                   ******
(จาก หนังสือตามรอยพระบาทพระศาสดา 
ศึกษาพุทธประวัติจากสังเวชนียสถาน)

******

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

บุพนิมิต

*****
แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี : บุพนิมิตแห่งมรรค ๗
ธรรมที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าว่า
มรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ
จะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น
๑.มีมิตรดี คบหาคนที่เป็นแหล่งแห่งปัญญา
และแบบอย่างที่ดี : กัลยาณมิตตตา
๒.ตั้งตนอยู่ในวินัยและมีความประพฤติทั่วไปดีงาม
การทำศีลให้ถึงพร้อม : สีลสัมปทา
๓.ความใฝ่ใจอยากจะทำกิจหน้าที่และสิ่งทั้งหลาย
ที่เกี่ยวข้องให้ดีงาม : ฉันทสัมปทา
๔.ความถึงพร้อมด้วยตนที่ฝึกดีแล้ว 
ทั้งด้านกาย ศีล จิต และปัญญา : อัตตสัมปทา
๕.การตั้งอยู่ในหลักความคิด ความเชื่อถือที่ถูกต้อง
ดีงาม มีเหตุผล ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม : ทิฏฐิสัมปทา
๖.ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท :อัปปมาทสัมปทา
๗.ความคิดแยบคายให้เห็นความจริง
และหาประโยชน์ได้ : โยนิโสมนสิการสัมปทา
เมื่อใดธรรมที่เป็นบุพนิมิต ๗ ประการนี้
แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมีในบุคคลแล้ว เมื่อนั้น
ย่อมเป็นอันหวังได้ว่าเขาจักเจริญ พัฒนา
ทำให้มาก ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ
คือจักดำเนินก้าวไปในมัชฌิมาปฏิปทา
*****
(จาก พจนานุกรมพุทศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ป.อ. ปยุตโต)

*****


วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผู้เข้ากันได้โดยธาตุ

( ภาพ "คันธกุฎี" ยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ อินเดีย)
*****
       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์  สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรเดินจงกลมร่วมกับพระภิกษุมากหลายในที่ที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค  แม้ท่านพระโมคคัลลานะ  ท่านพระมหากัสสปะ  ท่านพระอนุรุทธ์  ท่านพระปุณณะ  ท่านพระอุบาลี ท่านพระอานนท์และท่านพระเทวทัต  (แต่ละท่าน)ต่างก็เดินจงกลมกับพระภิกษุมากหลายไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
       ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายเห็นสารีบุตรกำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ? "
       ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีปัญญามาก.....ท่านทั้งหลายเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
       " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีฤทธิ์มาก.....ท่านทั้งหลายเห็นมหากัสสปะกำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
       " เห็น พระเจ้าข้า ! "      
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธุตะวาทะ(ผู้กล่าวในทางขัดเกลากิเลส คือสรรเสริญการประพฤติธุดงค์)มาก.....ท่านทั้งหลายเห็นอนุรุทธ์กำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
       " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีทิพยจักษุ.....ท่านทั้งหลายเห็นปุณณะ มันตานีบุตร กำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
     " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นธรรมกถึก(ผู้แสดงธรรม).....ท่านทั้งหลายเห็นอุบาลีกำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
       " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระวินัยธร(ผู้ทรงวินัย).....ท่านทั้งหลายเห็นอานนท์กำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
       " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้สดับตรับฟังมาก.....ท่านทั้งหลายเห็นเทวทัตกำลังเดินจงกลมร่วมกับภิกษุมากหลายหรือไม่ ?"
         " เห็น พระเจ้าข้า ! "
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก.."
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้โดยธาตุ ผู้มีอัธยาศัยเลวย่อมเข้ากันได้ ย่อมลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยเลว ผู้มีอัธยาศัยดีงามย่อมเข้ากันได้ ลงกันได้กับผู้มีอัธยาศัยดีงาม.."
 " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แม้ในอดีตกาลนานไกล ...แม้ในอนาคตกาลนานไกล ...แม้ในปัจจุบันกาลนานไกล... สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้ากันได้โดยธาตุ ลงกันได้โดยธาตุ ทั้งผู้มีอัธยาศัยเลว  อัธยาศัยดีงาม."
                              (สังยุตตนิกาย นิทานวัตต์  ๑๖/๑๘๖)
*****

*******

*******

********

********


วันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2557

พูดจาชอบ

(..."สารนาถ"...ขอบคุณภาพจาก ตาล วันแรมทางทัวร์)
*****
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดจาชอบเป็นอย่างไรเล่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรากล่าวว่า การพูดจาชอบ
(องค์มรรคที่ ๓ ในอริยมรรคมีองค์แปด)
*****
สัมมาวาจา..พูดจาชอบ
พูดจริง..ไม่พูดเท็จ
พูดประสานสามัคคี..ไม่พูดส่อเสียด
พูดอ่อนหวาน..ไม่พูดหยาบ
พูดมีประโยชน์..ไม่พูดเพ้อเจ้อ

*****




วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

หลักของคนทุกวันนี้

(ภาพจากอินเตอร์เนต)
*****
ถ้าเอาเปรียบ เขาไม่ได้ ก็ว่า"ไม่ถูก"
ถ้าจูงจมูก ได้ทุกที ก็ว่า"ดีเหลือ"
ถึงวันดี เกิดมี เกลือจิ้มเกลือ
ร้องว่า"เบื่อ"โลกอะไร? ไม่เป็นธรรม
คนพวกนี้ มีโลก ของตัวเอง
ไปตามเพลง ของกิเลส ที่อุปถัมภ์
ไม่ยอมรับ อะไรหมด แม้กฏกรรม
ความเป็นธรรม นั้นคือ "ได้ ตามใจตัว"
ไกลจากสัตว์ ไปทุกที ที่ว่าเจริญ
หาส่วนเกิน มาเทิดไว้ ใส่เกล้าหัว
ใช้สงคราม ตัดสินความ ไม่คร้ามกลัว
ว่าความชั่ว จะไหม้โลก เป็นโคกไฟฯ
                                   พุทธทาส
*****


วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุดมมงคล

*****
อุดมมงคล คือ ธรรมอันนำมาเพื่อความสุข ความเจริญ
มงคลอันสูงสุด  มงคล ๓๘
คาถาที่ ๑
๑.ไม่คบคนพาล : อเสวนา จ พาลานัง
๒.คบบัณฑิต : ปัณฑิตานัญจ เสวนา
๓.บูชาคนที่คนบูชา : ปูชา จ ปูชนียานัง
*****
( จาก พจนานุกรมฉบับพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม 
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต)

วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

มนุษยธรรม


เบญจศีล หมายถึง ความประพฤติชอบทางกายและวาจา
การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน
ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่่่ว
๑.เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน : ปาณาติปาตา เวรมณี
๒.เว้นจากการลัก โกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน : อทินาทานา เวรมณี
๓.เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน : กาเมสุมิฉาจารา เวรมณี
๔.เว้นจากการพุดเท็จ โกหก หลอกลวง : มุสาวาทา เวรมณี
๕.เว้นจากน้ำเมาและเมรัย สิ่งเสพติดให้โทษอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 
: สุราเมรยมัชชปมาฏฐานา เวรมณี
เบญจธรรม หมายถึง คุณธรรมห้าประการคู่กับเบญจศีล
ธรรมเกื้อกูลแก่การรักษาเบญจศึล
ผู้รักษาเบญจศึลควรมีไว้ประจำใจ
๑.เมตตาและกรุณา ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ  
ความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ : คู่กับศีลข้อ ๑
๒.สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต : คู่กับศีลข้อ ๒
๓.กามสังวร ความสำรวมระวังรู้จักยับยั้งควบคุมตนในทางกามารมณ์
ไม่หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัส : คู่กับศีลข้อ ๓
๔.สัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง : คู่กับศีลข้อ ๔
๕.สติสัมปชัญญะ ระลึกได้และรู้ตัวอยู่เสมอ ฝึกตนให้รู้จักยั้งคิด 
รู้สึกตัวเสมอว่าสิ่่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ 
มิให้เป็นคนมัวเมาประมาท : คู่กับศีลข้อ ๕
******
(จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
 พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต)

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทหารของชาติ

(ภาพจากอินเตอร์เนต)
******
"..ประเทศชาตินั้นประกอบด้วยผืนแผ่นดิน
กับประชาชน และผืนแผ่นดินนั้นเป็นที่เกิด ที่อาศัย
ที่อำนวยประโยชน์สุขความมั่นคงร่มเย็นแก่ประชาชน
ให้สามารถรวมกันอยู่เป็นปึกแผ่นเป็นชาติได้
ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
จึงมิใด้อยู่ที่การปกป้องรักษาผืนแผ่นดิน
ด้วยแสนยานุภาพแต่เพียงอย่างเดียว
หากจำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีความวัฒนาผาสุก
ปราศจากทุกข์ยากเข็ญด้วย
เหตุนี้ เมื่อประชาชนมีความทุกข์ยากเดือดร้อน
หรือประสบภัยพิบัติ ทหารจึงต้องถือเป็น
ภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติช่วยเหลือ
ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกอุ่นใจ มั่นใจ
และภูมิใจได้ว่าแผ่นดินไทยนั้น
เป็นที่อยู่ที่อาศัยอันประเสริฐสุด 
ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันหวงแหนรักษาไว้.."
*****
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์
ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนาม
ของทหารรักษาพระองค์
วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๔





วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

อัคคิ

(ภาพจากอินเตอร์เนต)
*****
อัคคิ ๓ หมายถึง ไฟ , กิเลสเปรียบเหมือนไฟ
เพราะเผาลนจิตใจให้เร่าร้อนและแผ่สร่านไป
ราคัคคิ ไฟคือราคะ ได้แก่  ความติดใจ กระสันอยากได้
โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ได้แก่  ความขัดเคืองไม่พอใจ
คิดประทุษร้าย
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ได้แก่ความหลง 
ไม่รู้ไม่เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ไฟ ๓ อย่างนี้ท่านสอนให้ละเสีย
*****
(จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)
*****

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผลประโยชน์ของแผ่นดิน


***********
"..การยึดมั่นในผลประโยชน์ของแผ่นดิน 
และความถูกต้องเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
เพราะการยึดมั่นถือมั่นดังกล่าว
จะทำให้มีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยว
ในอันที่จะพากเพียรปฏิบัติหน้าที่
ให้จนบรรลุผลสำเร็จ
และสามารถป้องกันความผิดพลาดเสียหาย
อันจะเกิดแก่ตนแก่งานได้อย่างแท้จริง..."
พระบรมราโชวาท 
เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

กตัญญูกตเวที


กตัญญูกตเวที หมายถึง ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้ว
และตอบแทน
ผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำดีของผู้อื่น
และแสดงออกเพื่อบูชาความดีนั้น
(จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์)




..เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณต่อแผ่นดิน..
*****